“สุดารัตน์” แนะ “ประยุทธ์” เร่งสร้างมาตรการคุมไวรัสโคโรนา ถอดสูตรคุมโรคซาร์ส สร้างความมั่นใจประชาชน

(26 ม.ค. 63) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้มงวดกับการตรวจคัดกรองนักเดินทางที่มาจากประเทศที่เกิดการระบาดทั้งโดยเครื่องบินและรถที่มาจากภาคเหนือมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นข่าว เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้มีเวลาฟักตัวสูงสุด 14 วัน 

“ในมุมมองของตน ปัจจัยใหญ่คือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในช่วงตรุษจีนแล้วยังไม่ได้กลับประเทศ ถ้าตรงนี้ควบคุมได้ดีก็จะคลายความกังวลลงได้ เนื่องจากประเทศจีนที่เป็นแหล่งระบาดของโรคปอดอักเสบที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้สั่งห้ามไม่ให้คนจีนเดินทางทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็จะหยุดการระบาดได้ ถือเป็นโชคดีของประเทศไทยด้วย ตนขอชื่นชมประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เอาจริงเอาจังกับการหยุดยั้งการระบาดของไวรัสได้อย่างดี”

ดังนั้น เมื่อประเทศต้นทางหยุดการเดินทาง ก็ยังเหลืออีก 2 ปัจจัยที่ต้องควบคุม คือ 1. การคัดกรองผู้ติดเชื้อที่เข้ามาในประเทศทั้งทางรถและทางอากาศต้องทำอย่างเข้มงวด 2. การเฝ้าระวัง เมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วต้องคุมไม่ให้มีการระบาดภายในประเทศให้ได้ โดยการติดตามอย่างจริงจังว่า ผู้ติดเชื้อได้ไปสัมผัสใคร เราต้องเฝ้าติดตามคนที่เขาสัมผัสว่ามีอาการหรือไม่ เนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันได้ทางอากาศ ก็จะติดง่ายกว่าโรคซาร์สที่ติดต่อกันผ่านทางสารคัดหลั่งเท่านั้น 

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ไวรัสโคโรนา อยู่ในกลุ่มเชื้อเดียวกันกับโรคซาร์ส และเมอร์ส แม้ว่าขณะนี้อัตราการติดต่อน้อยกว่า แต่เชื้อไวรัสสามารถฟุ้งกระจายในอากาศจากการไอ จาม ดังนั้นรัฐจะนิ่งนอนใจไม่ได้กับปัญหาความเสี่ยงแบบนี้ เนื่องจากเรามองไม่เห็นว่าเชื้อโรคมันอยู่ตรงไหน รัฐต้องเข้มงวดและเอาจริงเอาจังในทุกมาตรการ ไม่ประมาทในแต่ละจุด ทั้งการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามา และไม่ให้มีการระบาดในประเทศ

โดยจากประสบการณ์ของตนที่รับผิดชอบในช่วงการระบาดของโรคซาร์ส และไข้หวัดนก ตนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีระบบที่ดี จากประสบการณ์ช่วงระบาดของซาร์สและไข้หวัดนก รวมทั้งข้าราชการที่มีความสามารถ แต่จะปล่อยให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานกระทรวงเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงาน ที่สำคัญรัฐบาลต้องแก้ไขความวิตกกังวลของประชาชน ดังนี้ 1. พูดความจริง 2. ให้ความรู้กับประชาชน และ 3. ออกมาตรการที่เข้มข้น และลงมือทำอย่างจริงจัง 

“นายกรัฐมนตรีจึงควรต้องแสดงบทบาทเป็นผู้นำทีมในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ต้องเร่งสร้างมาตรการให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า รัฐบาลมีมาตรการในการป้องกันการระบาดในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงทำ”

ทั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ยกตัวอย่างการทำงานในช่วงโรคซาร์สระบาด ซึ่งตอนนั้นถือเป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มีใครรู้จัก คนตื่นตระหนกมากกว่านี้ ตอนนั้น ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำที่ดี ลงมาจัดการปัญหาทันที ระดมทุกสรรพกำลังจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย มีการตรวจสแกนทุกไฟลท์บินเข้า-ออกในประเทศ มีทีมแพทย์สัมภาษณ์ผู้เดินทางเข้าออกประเทศที่เคยเดินทางผ่านประเทศที่มีการระบาดของโรค และถ้าใครมีอาการน่าสงสัย ก็เชิญไปตรวจในโรงพยาบาลทันที จนตอนนั้นไม่มีผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศได้ อีกทั้งยังทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เพราะถ้าพลาดตรงไหนมันคือชีวิตประชาชน แล้วจากนั้นทำมาตรการให้เข้ม ผลคือประชาชนในประเทศและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็จะกลับมาปกติโดยเร็ว จนองค์การอนามัยโลกยกให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างในการควบคุมโรคซาร์ส 

“สำหรับประชาชนก็ต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลาง ทานอาหารร้อน หากมีอาการไอหรือจามควรสวมหน้ากาก หากมีไข้สูงควรรีบพบแพทย์ ตนขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่าน เพราะเป็นงานที่ยากและมีความเสี่ยง”