วงเสวนา “ผ่าตัดงบประมาณรวมพลังสร้าง กทม.” ชี้ กทม. ใช้งบมหาศาล แต่คุณภาพชีวิตประชาชนแย่ลง แนะ เร่งเลือกผู้ว่าฯ ส.ก. และ ส.ข. เพิ่มกลไกถ่วงดุลโดยเร็ว

27 กันยายน 2563 คณะกรรมาธิการการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร จัดเสวนาในหัวข้อ “ผ่าตัดงบประมาณรวมพลังสร้าง กทม.” โดยมี ส.ส. กทม. อดีต ส.ก. และนักวิชาการ ร่วมเสวนา

นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณของกรุงเทพฯ ย้อนหลังไป 7 ปี เห็นได้ว่าใช้งบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ยังพบปัญหาที่ซ้ำซาก ขาดการบูรณาการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา รวมทั้งยังมีหลายโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก เช่น โครงการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงกว่า 6,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ , โครงการจัดสร้างโรงฆ่าสัตว์ซึ่งใช้งบกว่า 900 ล้านบาท แต่ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่แพร่เชื้อโรคต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหาการเก็บขยะไม่ทัน ปัญหาการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุข แม้จะมีการลงทุนต่อเนื่อง และใช้งบประมาณมหาศาลก็ตาม 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. ทราบถึงปัญหาต่างๆ แต่ไม่คิดจะดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เร่งรัดผลักดันอย่างจริงจัง ดังนั้น ส.ข. จึงจำเป็นต้องมี หากเรามีการถ่วงดุลในระดับเขต ก็จะทำให้การพัฒนาสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงขอเสนอให้เร่งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยเร็ว รวมถึง ส.ก. และ ส.ข. ซึ่งไม่ควรเกินเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กทม. ไม่เคยสอบถาม หรือพูดคุยกับประชาชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงก่อนดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การอนุญาตให้ BTS ใช้ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ในส่วนดังกล่าว ขณะที่อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็แพงที่สุดในโลก ทำให้ปัจจุบันคนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทุกกลุ่ม รัฐบาลต้องมีหน้าที่เข้าไปเจรจากับเอกชนที่เข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในมิติของค่าโดยสาร ที่ต้องเปิดโอกาสให้เป็นบริการเพื่อการขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กทม. มีงบประมาณมหาศาล แต่ยังมีการบริหารงานที่ล้าหลัง ทั้งการจัดสรรงบประมาณ การจัดผังเมือง โดยเห็นว่าการจัดผังเมืองไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมคิด ส่วนร่วมจัดการ หากผังเมืองดีชีวิตของประชาชนก็จะดี และการจัดผังเมืองของ กทม. ไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัย ปัญหาน้ำท่วม การระบาย หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่และจำนวนประชากร อีกปัญหาคือ การที่ผู้อำนวยการเขตเป็นบุคคลที่มาจากส่วนกลางและไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้อำนวยการเขตไม่ต้องรับรู้ ถึงความทุกข์ยากเมื่อประชาชนเกิดปัญหา ขณะที่การตรวจสอบ การใช้งบประมาณ ด้วยกลไกที่เคยปฏิบัติมาก็ถูกตัดไป

นายประเสริฐ ทองนุ่น อดีต ส.ก. เขตบางกะปิ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วม กทม. ซ้ำซาก เกิดจากการบริหารจัดการ ซึ่งละเลยสิ่งที่ควรจะเร่งแก้ไขปัญหา เช่น การพัฒนาพื้นที่ฟลัดเวย์ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วน สิ่งที่ควรทำไม่ทำ สิ่งที่ยังไม่ควรทำกลับทำ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการสั่งการลงมาจากผู้มีอำนาจ ขณะที่ข้าราชการส่วนใหญ่ก็ละเลยที่จะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน รวมถึงกลไก ส.ข. เอง ก็ไม่สามารถเดินหน้าทำงานได้ ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจำเป็นต้องกลับมาทบทวน ว่าควรมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาต่างๆได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ