“เพื่อไทย” เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบค่าเสียหายคดีปิดเหมืองทอง อย่าใช้เงินภาษีของประชาชน
31 สิงหาคม 2563 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 111,155,700 บาท ภายหลังจากที่บริษัทคิงส์เกตฯ ร้องรัฐบาลไทย กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องระงับการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 2560 ทั้งหมดนี้คงต้องรอว่าคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เพราะใช้คำสั่งของ คสช. ไปสั่งปิดเหมืองทอง ซึ่งกระทำมิได้เพราะผิดข้อตกลงทางการค้า รวมทั้งทางคิงส์เกต และต่างประเทศไม่ยอมรับมาตรา 44 ที่ คสช. บังคับใช้ เป็นแค่กฎหมายเฉพาะกิจที่มีผลแค่ในประเทศไทย
“พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะรับผิดชอบเองหากเกิดความเสียหาย มาถึงเวลานี้กลับปัดความรับผิดชอบ นำเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อีกทั้งที่ผ่านมามีการจ่ายค่าทนายความไปแล้ว 500-600 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่เปิดเผยกับประชาชนว่าใช้เงินในส่วนไหน พล.อ.ประยุทธ์ นำราชอาณาจักรไทย เข้าสู่ข้อพิพาทกับบริษัทคิงส์เกต หากมีคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ออกมาว่าไทยแพ้ ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะให้ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบแทนความผิดที่ตัวเองก่อหรือไม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หรือ คนไทยทั้งประเทศ ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหาย แทนความผิดพลาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อขึ้น”
ขณะที่ นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่ คสช. ได้ใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองไปจนทำให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้าน และค่าทนายเพื่อเตรียมสู้คดีอีกหลายร้อยล้านโดยที่ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือจะให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบโดยการนำภาษีของประชาชนก็ยังไม่มีข้อยุติ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดความเสียหายแล้วคือภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จะเห็นได้จากการเปรียบเทียบตัวเลขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในปี 2556 ประเทศไทยมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานใหม่มากกว่า 200,000 อัตรา แต่ในปี 2562 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 756,100 ล้านบาท การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติต้องใช้เวลาและปัจจัยหลายๆอย่าง ซึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติต้องนำมาพิจารณาในการจะเลือกประเทศที่จะลงทุนมีหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือกฎหมายและเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีนักลงทุนต่างชาติที่คิดจะมาลงทุนหลายหมื่นล้านกับประเทศที่ใช้กฎหมายแบบที่รัฐบาลเราทำกับกรณีเหมืองทองอัครา เป็นอีกครั้งที่ทำให้รู้ว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศในขณะนี้เป็นอย่างไร