“พรรคเพื่อไทย” ออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้ง ส.ส.ร.

27 สิงหาคม 2563 พรรคเพื่อไทย นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงการณ์กรณีการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 (อ่าน : แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ฉบับเต็ม )

โดย นายสุทิน กล่าวว่า กรณีการร่วมมือการแก้ไขมาตรา 272 ที่ผ่านมา อาจมีความเข้าใจที่ไขว้เขวว่าพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมปิดสวิตช์ ส.ว. หรือไม่ยอมแก้ไขในส่วนที่ต้องไปตัดอำนาจ ส.ว. ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการคงไว้ซึ่งอำนาจของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และยังได้รับผลกระทบมากกว่าพรรคอื่น การเลือกตั้งครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะอำนาจของ ส.ว. และหากยังคงไว้การเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงมีอุปสรรคจากอำนาจของ ส.ว. เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลใดที่อยากจะคงอำนาจนี้ไว้ พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยในการที่จะแก้ไขมาตรา 272 แต่ต่างกันเพียงแค่จะให้ใครแก้ แก้เมื่อไหร่ พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่าให้ ส.ส.ร. เป็นคนแก้ เพราะการตั้ง ส.ส.ร. คือข้อเรียกร้องของประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อตั้ง ส.ส.ร. แล้ว ก็ต้องเคารพ ส.ส.ร.ให้เป็นผู้ตัดอำนาจ ส.ว.

นายโภคิน กล่าวว่า เราได้ยกร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 272 ไว้อยู่แล้ว ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารกับทาง กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ โดยร่างฯฉบับนี้ เราตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เป็นเรื่องของ ส.ส. เท่านั้น แต่ในการที่ ส.ส. จะเลือกนายกฯ ได้ ก็ต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และสิ่งที่เราเพิ่มเติมลงไป คือ ส.ส. อาจจะเลือก ส.ส. ด้วยกันเอง ให้เป็นนายกฯ ก็ได้ เพื่อไม่ให้มีทางตัน หรือเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ประชุม ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่ร่วมลงชื่อในประเด็นอื่นนอกจากการตั้ง ส.ส.ร. เนื่องจากอยากเน้นประเด็นเรื่อง ส.ส.ร. ให้เดินไปได้ จนประสบความสำเร็จไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วหลังจากนั้นเราจะไปแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดส่วนอื่นๆ ต่อไป

ขณะที่ นายวัฒนา กล่าวว่า การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมี ส.ส. ร่วมลงชื่อ ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 คือ 100 คน ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในฐานะเป็นผู้เสนอญัตติทั้งสิ้น ดังนั้น การเสนอญัตติในมาตรา 256  คือการตั้ง ส.ส.ร. ไปแล้ว ถ้าหากจะไปเซ็นชื่อในญัตติอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งจะมีผลทางกฎหมาย ทำให้ญัตติเดิมตกไป หรืออาจมีปัญหาที่จะต้องตีความ ทั้งนี้ เรื่องการเสนอญัตติซ้ำ ก็เหมือนกับเรื่องการฟ้องซ้ำ คือ เมื่อฟ้องไปแล้ว จะนำเรื่องเดียวกันไปฟ้องอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญไปทั้งฉบับแล้ว จะไปเซ็นแก้อีกในเรื่องเดียวกันเป็นรายมาตราไม่ได้ ยกเว้น ญัตติเดิมที่เป็นการแก้ทั้งฉบับ จะผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ถึงจะสามารถเสนอใหม่ได้ นั่นคือ เหตุผลที่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ไปร่วมลงชื่อเพื่อแก้ไขในประเด็นแยกย่อยอื่นอีกไม่ได้