“หมอมิ้ง” วอนรัฐเร่งผนึกกำลังทุกภาคส่วน จัดการคลัสเตอร์ “คลองเตย” ด่วนที่สุด!
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาครัฐในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เร่งผนึกกำลัง ประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน จิตอาสา ร่วมกันแก้ไขปัญหา “คลัสเตอร์คลองเตย” อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยมีข้อความดังนี้
“ข่าวการลุกลามขยายตัวผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตยตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณเตือนที่น่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะชุมชนคลองเตยมีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น และผู้อยู่อาศัยหาเลี้ยงชีพด้านบริการที่ต้องออกมาพบปะผู้คน และ Work from Home ไม่ได้ ส่วนใหญ่มีโอกาสทำงานที่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองเช่นบริการ delivery ไม่น้อย และมีข่าวว่าเริ่มมีผู้ติดเชื้อไปรับบริการฉุกเฉินที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มากผิดปกติ การจัดการควบคุมโรคต้อง ’ดำเนินการอย่างเข้มข้นเป็นฝ่ายรุก’
ศบค. ต้องร่วมกับ ผู้ว่ากทม. ในฐานะ ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ต้องมาบัญชาการอย่างใกล้ชิด ระดมความร่วมมือระหว่าง กทม. กับกระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลของ กทม., เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. และโรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลโรงงานยาสูบของกระทรวงการคลัง ตลอดจนกำลังอาสาสมัครของมูลนิธิ หรือ NGO ที่ทำงานอยู่ในชุมชนคลองเตยอยู่แล้วนับสิบองค์กร และภาคเอกชนที่พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เป็นต้น
ภารกิจสำคัญ ได้แก่
- เร่งตรวจคัดกรองและรายงานผลให้เร็วที่สุด ให้ครอบคลุมประชากรนับแสนคน ด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม คือ ใช้ทั้ง PCR test ร่วมกับ self rapid antigen test ที่อ่านผลเร็ว ทำได้ด้วยตัวเอง และราคาถูก เป็นการคัดกรองรอบแรก
- แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ในกรณีนี้ ถ้าหากการกักตัวในที่อยู่อาศัยทำไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องอาศัยอยู่รวมกันหลายคนในที่จำกัด ต้องแยกผู้ป่วยออกมา ประสานแยกแยะผู้ป่วยตามความรุนแรงของอาการกับบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม แทนที่บังคับว่าตรวจพบที่ไหนต้องรับผู้ป่วยที่นั่น
- ในกรณีนี้ การ ’เยียวยาชดเชยรายได้เป็นรายบุคคล’ ที่ถูกแยกมากักโรคย่อมกระทำได้แม่นยำ จึงควรทำควบคู่กันด้วย
- เตรียมที่พักชั่วคราวเพื่อกักกันโรคให้เพียงพอเป็นเรื่องเร่งด่วน ควบคู่กับการบริหารเรื่องสถานบริการ บุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ เหมาะสมกับสถานการณ์
- ข้อมูลเป็นจริง ข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับประชากร ที่อยู่อาศัย ผู้ติดเชื้อ สถานะที่ได้รับการดูแล การตรวจคัดกรอง การรักษา เป็นเรื่องจำเป็นในการทำงานของแต่ละภาคส่วน เพื่อความร่วมมือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งเท่าที่ทราบอาสาสมัครเอกชนในชุมชนได้มีการรวมตัวกันเริ่มดำเนินการมาขั้นหนึ่งแล้ว หากหน่วยงานของ กทม.และรัฐเรียกระดมเข้ามาย่อมเป็นผลดี อีกทั้งสามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร (digital technology) อื่นๆมาปรับปรุง ย่อมเกิดผลดี
จะเห็นว่าเรื่องต่างๆเหล่านี้ ศักยภาพเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่เป็นศักยภาพ และทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพียงต้องการการบริหารจัดการที่ดี ประกอบกับ การนำที่ดี เราก็จะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้
ขอให้ใช้การบริหารการควบคุมการระบาดโควิดในชุมชนคลองเตยให้สำเร็จ เป็นก้าวสำคัญของการประสาน ระดมสรรพกำลังในสังคมไทยฟันฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน”
อ้างอิง
https://www.facebook.com/100006720972475/posts/2980658622168141/