กรุงเทพมหานคร : ปัญหาที่ไม่เล็กกับขยะชิ้นเล็ก
ปัญหาเรื่องขยะนั้นเป็นปัญหาที่มีอยู่คู่กับทุกสังคมบนโลกมาเป็นเวลานาน ขยะก่อให้เกิดมลภาวะต่างๆ มากมาย ส่งผลให้หลายที่ทั่วโลกพยายามกำจัดขยะออกไป โดยเริ่มแรกมีการนำขยะไปเผาบ้าง ไปฝังบ้าง ซึ่งการกระทำเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่เป็นแค่การผลักปัญหาเหล่านี้ไปยังพื้นที่อื่นเท่านั้นเอง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในเวลาต่อมาด้วย เพราะที่ไหนที่กลายเป็นที่พักขยะ หรือทิ้งขยะจำนวนมหาศาล ผู้คนบริเวณนั้นย่อมได้รับความเดือดร้อนโดยปริยาย ในหลายๆ ประเทศจึงเริ่มศึกษาค้นคว้าและหาวิธีที่จะจัดการกับปริมาณขยะที่มีมากขึ้นทุกๆ วัน เพื่อที่จะทำให้สังคมของพวกเขามีความน่าอยู่มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นประเทศโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาขยะ โดยการแก้ปัญหาเริ่มแรก รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่า “ขยะ” เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนในประเทศจะต้องช่วยกันแก้ไข โดยหน่วยงานเทศบาลของแต่ละพื้นที่จะแจกคู่มือการแยกขยะ เพื่อให้ประชาชนทุกคนรู้จักประเภทของขยะอย่างละเอียด และช่วยกันแยกขยะจากในครัวเรือน มีการรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกที่และถูกประเภท นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครมาช่วยแยกประเภทขยะตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง ชี้ให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะที่ “ต้นทาง” เพื่อให้สอดคล้องกับการกำจัดขยะที่”ปลายทาง” เมื่อภาครัฐมีการรณรงค์อย่างจริงจัง ประชาชนก็ให้ความร่วมมือ และปฎิบัติอย่างเคร่งครัดจนเคยชิน และกลายเป็นวิถีประจำวันในที่สุด
กรุงโตเกียว เมืองหลวงประเทศญี่ปุ่น มีประชากรมากถึง 13 ล้านคน มีปริมาณขยะเฉลี่ยประมาณ 12,500 ตัน/วัน แต่ทำไมกรุงโตเกียวถึงสามารถบริหารจัดการเรื่องขยะได้เป็นอย่างดี ในเชิงปฏิบัติของภาครัฐ ขยะในแต่ละวันที่ถูกแยกจากครัวเรือนจะถูกเก็บรวบรวมโดยเทศบาลท้องถิ่น ซึ่งทางหน่วยงานจะมีการกําหนดความถี่ในการเก็บขยะ โดยแยกตามประเภทขยะ ได้แก่ ขยะที่เผาไหม้ได้จะเก็บ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้จะเก็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ขยะรีไซเคิลเก็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนขยะที่มีขนาดใหญ่จะทําการเก็บรวบรวมโดยขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในการร้องขอให้นําไปกําจัด ทั้งนี้เมื่อมีเก็บแยกขยะจากหน่วยงานแล้ว ขยะที่เผาไหม้ได้จะถูกขนส่งไปยังเตาเผาขยะโดยหน่วยงานด้านความสะอาด ขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาจะถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบและนำไปแปรรูปเป็นตะกรัน (Slag) เพื่อนำไปผสมกับซีเมนต์ ข้อดีของการเผาขยะคือสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากความร้อนที่ได้จากการเผาขยะได้ ส่วนขยะที่เผาไม่ได้และขยะที่มีขนาดใหญ่จะถูกส่งไปยังโรงงานบำบัดขยะขนาดใหญ่ เพื่อบดย่อยให้มีขนาดเล็กลงแล้วนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ โดยวิธีฝังกลบก็จะคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน กรุงโตเกียวอยู่ระหว่างการหาวิธีการต่างๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานหลุมฝังกลบ
นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศสวีเดนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะ หลายๆ ประเทศอาจจะประสบปัญหาขยะล้นเกิน แต่สำหรับประเทศสวีเดน พวกเขากำลังขาดแคลนขยะ จนต้องนำเข้าขยะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์และอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป เพื่อนำมาใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถนำมาใช้ให้ความอบอุ่นแก่บ้านเรือนได้ถึง 810,000 หลัง และยังสามารถจ่ายพลังงานให้กับครัวเรือนได้กว่า 250,000 หลัง ประเทศสวีเดนถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาขยะ เพราะขยะเกือบทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เหลือเพียงแค่ 4% เท่านั้นที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และต้องนำไปถม ทั้งนี้เทคโนโลยีไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้สวีเดนประสบความสำเร็จ แต่ต้องขอบคุณประชาชนกว่า 9.5 ล้านคนที่มีความตระหนักถึงปัญหา และร่วมมือกับโครงการ กอปรกับกฎหมายที่เข้มงวดด้วยเช่นกัน
กรุงเทพมหานครถือว่าเป็นเมืองที่ประสบกับปัญหาขยะล้นเกินมาเป็นระยะเวลายาวนาน จากสถิติปี 2557 พบว่ากรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมากถึง 9,900 ตัน/วัน แต่สามารถกำจัดโดยการนำไปทำปุ๋ยได้แค่ประมาณ 1,200 ตัน/วัน หรือ 13% ของปริมาณขยะต่อวัน ส่วนขยะมูลฝอยที่เหลือกว่า 87% สามารถกำจัดได้ด้วยการฝังกลบเท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการกำจัดขยะในกรุงเทพฯ นั้นค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังมีปริมาณขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้น้อยมาก ส่วนขยะที่เหลือยังต้องถูกผลักออกไปยังพื้นที่ต่างๆ นอกกรุงเทพฯ อีกด้วย แม้ว่าวิธีการฝังกลบจะถูกดำเนินไปอย่างถูกสุขลักษณะ แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่างเช่น ผู้คนในพื้นที่บริเวณที่ทิ้งขยะได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ ที่มาจากขยะ ไม่ได้เป็นการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน แต่เป็นการผลักภาระไปให้คนในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้การบริหารจัดการและการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐนั้นก็ไม่ได้สอดคล้องกับการแยกขยะจากครัวเรือน จะเห็นได้จากเวลามีการเก็บขยะโดยรถขนขยะ ขยะบางทีมีการถูกแยกบ้างแล้ว แต่พอมีรถเก็บขยะมาเก็บ ขยะก็ถูกนำมารวมกันอยู่ดี ซึ่งนี่เป็นข้อบกพร่องของการบริหารจัดการ อีกทั้งสถานีขนถ่ายขยะเช่น สถานที่อ่อนนุช สถานีสายไหม และสถานีหนองแขม ก็ไม่ได้มีการบริหารจัดการคัดแยกขยะเพื่อนำไปกำจัดที่จุดปลายทางอย่างบูรณาการ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการแยกขยะและการกำจัดขยะของประเทศเรายังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ เมื่อไม่มีการแยกขยะให้ง่ายต่อการจัดการ กอปรกับการกำจัดขยะในปลายทางไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ส่งผลให้กรุงเทพฯ กลายมาเป็นเมืองที่กำลังประสบกับปัญหาขยะล้นเกิน
ท้ายที่สุดนี้ การแก้ปัญหาเรื่องของขยะนอกจากดูโมเดลจากต่างประเทศเป็นตัวอย่างแล้ว การบริหารจัดการที่มีการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพควรควบคู่ไปกับหลักการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันกับหลักนโยบาย การแก้ปัญหาจะเป็นไปด้วยดีหากทุกภาคส่วนช่วยกันอย่างจริงจัง และเป้าหมายสูงสุดไม่ควรอยู่แค่การลดขยะกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ควรมองไปไกลกว่านั้นว่าจะลดมลภาวะต่างๆ จากขยะทั้งในและนอกกรุงเทพฯ อย่างไร รวมไปถึงจะนำขยะเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง แทนการนำไปฝังกลบซึ่งไม่ป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อม การสร้างเตาเผาขยะแบบสวีเดนและญี่ปุ่นเพื่อนำมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน ในอนาคตเมื่อเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราอาจจะต่อยอดพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมสีเขียว(Green Society)ได้อีกด้วย
อ้างอิง
http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/647154
http://thaipublica.org/2014/07/tokyos-waste-management/
http://research.pcru.ac.th/rdb/pro_data/files/5603010.pdf
http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/bma-failure/
http://www.iurban.in.th/greenery/sweden-import-trash/
http://thaipublica.org/2014/11/bangkok-big-garbage-problem/
http://www.thairath.co.th/content/417113
http://www.centrallabthai.com/web/th/main/content.php?page=sub&category=61&id=2783
http://203.155.220.174/modules.php?name=News&file=article&sid=43
http://www.ftpi.or.th/download/APO-Article/Interface-Sector/Green%20Productivity/13IN83OSM3Rs-SunantaP02Sep14.pdf
http://www.human.cmu.ac.th/cms/japan/administrator/editor/userfiles/file/2555%20Sotsuron/510110393_Nawassada(1).pdf