“ยุทธพงศ์” จี้ “ประธานชวน” เร่งตรวจสอบที่มารถหรู “เรืองไกร” ผิดหรือไม่ ก่อนสภาประชุมงบ 65 กลางเดือนนี้ ชี้อาจทำให้งบ 65 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมเปิดเผยข้อมูลความผิดพลาดของรัฐบาลจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ตลอดช่วง 1 ปี 7 เดือนที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าไปที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ตนจะเสนอต่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เพิ่มรายชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เนื่องจากในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงต่อเนื่องยาวนาน ผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 20,000 คน และผู้เสียชีวิต 200 คนต่อวัน พี่น้องประชาชนอดอยาก ตกงาน แต่พลเอกประวิตร ยังคงสนับสนุนให้จัดซื้อเรือดำน้ำ ขณะที่พลเอกประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปล่อยปละละเลยให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณในโครงการจัดหายานยนต์สายสรรพาวุธ จำนวน 169 คัน มูลค่ารวม 921 ล้านบาท จากที่เคยขออนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถใหม่ เปลี่ยนเป็นการซ่อมรถที่หมดสภาพ ค่าซ่อม 2.5 ล้านบาทต่อคัน ทั้งที่บริษัทผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเลิกผลิตรถรุ่นนี้แล้ว โดยจะนำงบไปซื้ออะไหล่เก่าในประเทศเกาหลีมาซ่อมแทน และยังปรากฎในเอกสารทางราชการว่าได้บริษัทเอกชนรับงานนี้แล้ว คือ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ทั้งที่งบประมาณยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณและยังไม่ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่อย่างใด

นายยุทธพงศ์ ยังได้ย้ำถึงการโยกงบประมาณที่ถูกตัดจากหน่วยงานต่าง ๆลงงบกลางหรืองบโควิด ว่า งบประมาณรวม 16,300 ล้านบาท ถูกระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เท่านั้น เป็นไปตามมาตรา 144 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งกรรมาธิการของฝั่งเพื่อไทยได้เพิ่มเติมข้อสังเกตในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ว่า ขอให้สำนักงบประมาณปรับปรุง “ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563” ด้วย โดยขอให้ตัดความในข้อ 4 (1) ที่ระบุว่า “เพื่อเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกทั้งหมด และให้ยึดระเบียบข้อ 9 ที่ระบุว่า “เมื่อหน่วยรับงบประมาณงบกลางได้รับงบประมาณแล้ว ต้องใช้จ่ายตามรายการ วงเงิน และรายละเอียดที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติ จะโอนหรือเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายเงินไม่ได้” จึงขอยืนยันว่าทันทีที่งบประมาณ งบกลางในปี 2565 ประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 พรรคเพื่อไทยจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบกลางนี้พร้อมติดตามการใช้งบให้เป็นไปตามกฎหมาย

นายยุทธพงศ์ ยังได้ฝากถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 อาจกระทำการไม่ถูกต้อง ที่ไม่ตรวจสอบที่มาของรถหรูของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โฆษก กมธ.งบ 65 ตามที่ตนได้ทำหนังร้องเรียนไปเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายเรืองไกรอาจกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ที่ระบุว่า “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้” จากนั้นตนจึงได้ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ให้ตรวจสอบและพิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะบรรจุระเบียบวาระร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วาระ 2 และวาระ 3 ในช่วงวันที่ 18-20 สิงหาคมนี้ เพราะหากนายเรืองไกรกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 อาจทำให้ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2565 ผิดกฎหมายทั้งฉบับได้

นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขสถานการณ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงชุดตรวจ Antigen test kit ซึ่งมีราคาสูง รวมถึงการขาดแคลนสถานพยาบาลในการรับตรวจเชื้อด้วย RT-PCR โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ที่ศักยภาพการรองรับการตรวจหาเชื้อของโรงพยาบาลค่อนข้างจำกัด เช่น โรงพยาบาลบางกรวย บางบัวทอง ปากเกร็ด สถาบันบำราศนราดูล รับตรวจได้ไม่เกินวันละ 50 คน ศูนย์บริหารการแพทย์นนทบุรี รับตรวจได้ไม่เกินวันละ 60 คน และโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ไม่รับตรวจ เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ พร้อมเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ หยุดรวบอำนาจการสั่งการไว้ที่คนเดียว ยกเลิกแนวคิดรัฐบาลรวมศูนย์ เพราะมีแต่ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ทำงานไม่ไหว งานล้นมือ ต้องเร่งนำงบประมาณตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนบาทมาใช้จ่ายเพิ่มศักยภาพการแก้ไขสถานการณ์โควิดโดยด่วน