“ดร.สุทิน คลังแสง” ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน ไม่มีรายละเอียด-ทิศทางสับสน ชี้ “รัฐบาล” กู้ซ้ำซ้อน

31 พฤษภาคม 2563 ดร.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 , พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 โจมตี 3 แนวรบ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ดังนั้นวันนี้นายกรัฐมนตรีต้องสำรวจตัวเองว่าที่ได้ดำเนินการรักษาโรคมานั้นผลกระทบอะไรตามมาบ้าง วันนี้รัฐบาลยังสับสนไม่รู้ว่า อะไรเยียวยาอะไรฟื้นฟู และอะไรคือการกระตุ้น แต่กลับเอามารวมกันทั้งหมด ยกตัวอย่างแค่การเยียวยา ก็ยังล้มเหลว เพราะตลอด 3 เดือนที่ผ่านมายังมีคนเดือดร้อนอีกมากที่ไม่ได้รับการเยียวยา แล้ววันนี้แผนการดำเนินการใน พ.ร.ก.กู้เงิน ก็ไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย ว่าจะทำอะไรระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

การกู้เงินวันนี้ รัฐบาลอ้างแค่ไม่เกินกรอบเพดาน แต่จะขอยกตัวอย่างว่าการกู้เงินของรัฐบาลเหมือนกับการมีบัตรเครดิต  ซึ่งให้กู้เงินได้ไม่เกิน 60% ของวงเงิน รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนที่ผ่านๆมากู้กันแค่คนละนิดหน่อย แต่พอมาถึงรัฐบาลนี้คิดจะกู้เต็มโควตา โดยไม่เหลือเครดิตไว้เผื่อเกิดปัญหาในอนาคตเลย ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมักอ้างว่า กู้เพราะมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ยอมรับความจริงไหมว่าที่ผ่านมากู้ทุกปี วันนี้จึงเป็นการกู้ซ้ำกู้ซ้อน  ในงบประมาณประจำปี 2563 ก็กู้แล้ว วันนี้ก็มาออก พ.ร.ก.กู้เงิน แล้วงบประมาณปี 2564 ที่จะมีการพิจารณากันสัปดาห์หน้าก็กู้อีก

“ท่านยอมรับไหมว่า วันที่ท่านมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 36% แต่วันที่จะออกไป หนี้สาธารณะ ไปอยู่ที่ 60% – 70% ภูมิใจไหม” 

วันนี้คำถามสำคัญที่รัฐบาลยังตอบไม่ชัดเจน ทั้งสมควรกู้ไหม กู้ที่ไหน และกู้มาทำอะไร สถานการณ์ในวันนี้ฝ่ายค้านเห็นสมควรที่จะให้มีการกู้เงินมาแก้ไขปัญหาและเยียวยาพี่น้องประชาชน แต่รัฐบาลควรพิจารณาความจำเป็น ความเหมาะสมและควรพิจารณาใช้งบประมาณปกติก่อนว่าสามารถใช้ได้เท่าไร เหลืออีกเท่าไร เกลี่ยออกมาเพื่อจะได้ไม่ต้องกู้เงินจำนวนมากถึง 1 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังสามารถแยกความจำเป็นการดำเนินการแต่ละอย่างเพื่อให้กู้เงินน้อยลงกว่านี้ได้ พร้อมกับพิจารณาเงินที่จะกู้ในส่วนอื่นๆ ไปพิจารณาใช้งบประมาณที่มีแล้วอยู่แทน นอกจากนี้ประเด็นรัฐบาลจะไปกู้ที่ไหนและกู้มาทำอะไร ก็เป็นอีกสองคำถามใหญ่ ที่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยมีสิทธิจะรู้ 

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีและตราสารหนี้นั้นวันนี้สังคมก็ยังตั้งคำถามอยู่มาก โดยเฉพาะปัญหาของเอสเอ็มอีที่ยังมีความเหลื่อมล้ำและถูกกีดกันจากรายใหญ่ไม่กี่รายรวบตลาดไปเกือบทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลควรเร่งแก้ไขเพื่อให้รายเล็กรายน้อยเข้มแข็งก่อนที่จะเอาหนี้และยัดเยียดเอ็นพีแอลให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย และกรณีตราสารหนี้ที่ยังมีคำถามอย่างมากว่าเป็นการอุ้มเจ้าสัวหรือไม่ เพราะบริษัทเอกชนเหล่านั้นมีศักยภาพพอที่จะบริหารจัดการกับหุ้นกู้ของตัวเองได้ ไปจนถึงสถานะของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะต้องดำรงความเป็นอิสระ ซึ่งกรณีนี้ต้องแสดงความห่วงใยไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าอาจไม่รู้ทันนักลงทุน และอาจเป็นการเสี่ยงที่จะสร้างตำนานล้มบนฟูกรอบใหม่ ที่เศรษฐีแกล้งจน แกล้งล้มละลายให้คนอื่นใช้หนี้แทน แล้วตัวเองก็หอบทรัพย์สินหนีอีกหรือไม่ 

ท้ายที่สุดยังต้องพิจารณาว่า รัฐบาลต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงหรือไม่ เพราะมองได้ว่าเจตนาของรัฐบาลเป็นเพียงความต้องการที่จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเงินเร็วๆ ในระบบเท่านั้น แม้จะเป็นวิธีการที่ไม่ผิด แต่การกระตุ้นลักษณะนี้ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบด้วย ซึ่งรัฐบาลในอดีตทำได้สำเร็จหลายครั้ง แต่ปรากฏว่าในยุคของรัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เงินกลับไม่หมุนในระบบ แต่ไปหมุนเข้าไปสู่กิจการของเจ้าสัว ซึ่งสุดท้ายอาจตีกลับกลายเป็นใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นแล้วกลายเป็นหนี้ให้ประชาชนคนไทยรับผิดชอบ

วันนี้ฝ่ายค้านพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล หากไม่ให้ พ.ร.ก.กู้เงิน ผ่านความเห็นชอบก็สงสารชาวบ้าน แต่ถ้าให้ผ่านไปโดยง่ายก็เป็นห่วงลูกหลานในอนาคต จึงขออภิปรายเพื่อบันทึกไว้ในสภา เผื่อให้ลูกหลานวันหน้ามาดูแล้วพิจารณาเหตุผลของฝ่ายค้าน เพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคตและเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

“ฉบับแรก 1 ล้านล้านบาทนั้น 6 แสนล้านบาท เป้าหมายเยียวยาคนจน เราปฏิเสธไม่ได้ แม้อาจจะไปถึงชาวบ้านบ้างหรือไม่ถึงบ้าง แต่ถ้าไม่ไปเลยอาจเสียหายมากกว่า เพียงแต่ที่มีปัญหาอยู่คือระบบตรวจสอบ การงดออกเสียงใดๆ ก็แล้วแต่ขอให้พี่น้องทางบ้านเข้าใจ อะไรที่งดออกเสียงคือการเปิดไฟเขียวให้ผ่านอย่างขมขื่น แต่อะไรที่ไม่เห็นชอบ ก็เพราะเหลือเกินจริงๆ และผิดหลักการจริงๆ”