จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ : โครงสร้าง พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ไม่มีความครอบคลุม เต็มไปด้วยช่องโหว่ สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน

30 พฤษภาคม 2563 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 , พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่า โครงสร้างของ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับนี้ ไม่มีความครอบคลุม เต็มไปด้วยช่องโหว่ สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย โดยในส่วนของ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการ เป็นการเอาเผือกร้อนไปโยนให้กับ ธปท. ในการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอีและบริหารจัดการตราสารหนี้บริษัทใหญ่ ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการที่จะทำให้ ธปท. ไปเป็นคู่ความ ขาดความเป็นกลางและอิสระ ตามวัตถุประสงค์ของธนาคารกลางทั่วไป 

ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก็เหมือน ครม. มัดมือชก เอาประชาชนเป็นตัวประกันว่าสภาต้องผ่านเงินกู้ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณช่วยเหลือสาธารณสุขและอีกส่วนเป็นเรื่องของการเยียวยา ซึ่งทุกคนเข้าใจ แต่กลับยัดไส้เรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เข้ามาด้วย 4 แสนล้านบาท ซึ่งปกติโครงการพวกนี้สามารถดำเนินการด้วยงบประมาณปกติของภาครัฐผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ ที่จะมีการตรวจสอบโดยละเอียดได้ แต่ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ไม่มีรายละเอียด ไม่มีเนื้อหาโครงการ หากวันนี้ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่ต่างจากการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลเลย ดังนั้นจึงต้องถามว่า โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ฉุกเฉินและจำเป็นที่จะต้องสร้างให้เสร็จภายใน 2 เดือนนี้หรือ 

ที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนจะควบคุมได้ แต่แลกมาด้วยเลือด น้ำตาและชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะวันนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจที่หนักมากขึ้น 

“รัฐบาลพยายามใช้โควิด-19 เป็นแพะรับบาป แต่ในข้อเท็จจริง เศรษฐกิจดิ่งมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ พอเกิดวิกฤติโควิด-19 จึงหนักกว่าที่ควรจะเป็น หลักฐานคือตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ดังนั้นผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 สำหรับประเทศไทยจึงสูงมาก” 

การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลล้มเหลว มีผู้ตกหล่นหลายสิบล้านคน ไม่ทั่วถึง ล่าช้า ยุ่งยาก และไม่รัดกุม ยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูก็ผิดพลาด โดยเฉพาะในแผนของรัฐบาลที่ระบุเรื่องลดการพึ่งพาการส่งออกและลดการพึ่งพาการท่องเที่ยว จนฟังดูแล้วเหมือนจะปิดประเทศ ทั้งที่สถานการณ์ตอนนี้ต่องเร่งฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อให้พร้อมกับการก้าวเดินเมื่อสถานการณ์ปกติและต้องมองหาลู่ทางให้ประชาชนผลิตสินค้าและส่งออกได้ ซึ่งเมื่อยุทธศาสตร์ผิด การเยียวยาไม่สำเร็จ ก็ไม่เชื่อว่าการฟื้นฟูจะเกิดได้อย่างสมบูรณ์ 

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดใจให้กว้าง ให้โอกาสสภา ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขึ้นมาตรวจสอบการใช้เงิน การมารายงานสภาตามที่ พ.ร.ก. กำหนด ที่ให้เกิดขึ้นหลังจากปิดปีงบประมาณไปแล้ว 2 เดือนนั้นหากเกิดการทุจริตก็คงจะทำให้ทุกอย่างคงพังแล้ว