พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา “อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19” ชี้ ต้องเร่งปลดล็อก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด

18 พฤษภาคม 2563 พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 : วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และก้าวย่างของไทย” โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค , ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ , รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน  , นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรค ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ต้องฟื้นฟูอย่างมียุทธศาสตร์

โดย คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้เสนอยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาบนพื้นฐานว่าจะต้องรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจไม่ให้เสียหาย ควบคุมโรคระบาดได้ แม้จะมีการระบาดอีกกี่รอบ รัฐบาลต้องมั่นใจว่าจะดูแลพร้อมรับมือ แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลวันนี้ยังมีปัญหาเพราะแม้จะกู้เงินมา 1.9 ล้านล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่คนจนก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท เกษตรกรยังต้องไปรอลงทะเบียน ประกันสังคมยังไม่จ่ายเงินและมาตรการชำระหนี้ก็ไม่มี ซึ่งธุรกิจ SMEs ไทย มีสายป่านเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่มีไม่เกิน 1-2 เดือน ดังนั้นมาตรการซอฟโลนในวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าถึงได้และที่สำคัญกว่านั้น การ Disruption จากโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของประชาชนทั่วโลกเปลี่ยนไปโดยฉับพลันซึ่งนักธุรกิจและรัฐบาลต้องตระหนักและปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“เมื่อโควิด-19 เร่งการ Disruption ให้เกิดเร็วขึ้นและเร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไป วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป เพราะคนต้องการความปลอดภัย ความสะอาด คำนึงถึงสุขภาพ ดังนั้นหัวใจของธุรกิจโลกจึงต้องเปลี่ยน” 

ประเทศไทยมีจุดแข็งชัดเจนเรื่องระบบสาธารณสุขที่ยอดเยี่ยม มีการท่องเที่ยวที่สวยงามและภาคการเกษตรที่ผลิตอาหารปลอดภัยให้โลก ดังนั้นเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทควรใช้อย่างมียุทธศาสตร์ใน 3 เป้าหมายสำคัญ เป้าหมายแรกคือการลงทุนสร้างประเทศไทยให้เป็น  World class healthcare system ให้ทุกคนที่มาประเทศไทยมั่นใจว่าเมื่อมาเมืองไทยแล้ว สาธารณสุขของไทยสามารถดูแลได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยบริการระดับ world class ครบวงจรอย่างมีคุณภาพ  เป้าหมายที่สอง ไทยต้องลงทุนด้านโครงสร้างท่องเที่ยวพื้นฐาน คือยกระดับความปลอดภัยท่องเที่ยวใหม่ทั้งระบบ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสนี้ปรับปรุงสถานที่ ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ด้วยมาตรการอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือมาตรการทางภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนได้ และร่วมมือกับประเทศที่ควบคุมโรคระบาดได้เปิดบริการท่องเที่ยว เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยทำข้อตกลงมาตรการสาธารณสุขปลอดภัยร่วมกัน เป้าหมายที่สาม ด้านการเกษตร เราต้องตั้งเป้าเป็นครัวอาหารปลอดภัยของโลก เน้นการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี ส่งเสริมระบบชลประทานที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนหน้าดินเพื่อปลูกพืชเกษตรอินทรีย์และสินค้าการเกษตรที่ได้ราคาดีและใช้โอกาสนี้ที่จะมีเด็กจบใหม่จากระบบการศึกษา ให้พัฒนาศักยภาพทั้งด้านภาษาและเทคโนโลยีให้เตรียมพร้อมกับทักษะแรงงานขั้นสูง

ปลดล็อกเศรษฐกิจช้า ผลกระทบยิ่งสูง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าเราปลดล็อกทางเศรษฐกิจช้าไป ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะสูงมาก และจะเห็นได้ชัดเจนภายในช่วงปลายปี 2563 นี้ อัตราการว่างงานจะสูงถึง 5-7 ล้านคน เงิน 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเตรียมไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอาจไม่เพียงพอ และยุทธศาสตร์ของประเทศอาจจะต้องปรับเปลี่ยน เพราะยุทธศาสตร์เดิมที่พึ่ง EEC อย่างเดียว ในทางปฏิบัติอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว สถานการณ์ตอนนี้ การท่องเที่ยวคือนโยบายที่ควรจะรีบตัดสินใจก่อน ให้ทันภายในไตรมาสที่ 3 หรืออาจจะต้องเร็วกว่านั้น เพราะเศรษฐกิจโลกอาจยังไม่พร้อมจากการพยายามคลายล็อกเปิดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในขณะที่ยังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอยู่จำนวนมาก โรคอาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งเราจะหวังพึ่งกำลังซื้อจากต่างประเทศคงยากมาก และเรามีทางเลือกอยู่ทางเดียวในตอนนี้ คือกำลังซื้อภายในประเทศ 

ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าระบบสาธารณสุขของเราสามารถตั้งรับได้ดีจากตัวเลขอัตราการเสียชีวิต เราสามารถควบคุมดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีน้อยมาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยก็เป็นเกราะป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดีแม้จะไม่มีวัคซีนรักษาโรค แต่ประเทศไทยซึ่งดูเหมือนจะมีวัคซีนทางสังคมแล้วก็อย่าลืมว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอก่อนที่จะมีโควิด-19 ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ถ้าจำได้ GDP โตไม่ถึง 2% และเราก็พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมากในตอนนั้น หากจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้เราต้องรีบคิดรีบลงมือทำ เพราะมีหลายประเทศในเอเชียที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีแล้ว เราควรรวมกลุ่มเปิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน และแน่นอนว่าจะต้องมีระบบการคัดกรองที่ดี เพื่อมั่นใจว่าการท่องเที่ยวสามารถเกิดขึ้นได้ โดยต้องป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย การเกิดการแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ มีผลกระทบต่อ Global Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทานโลก) แต่มันก็มีจุดหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งโอกาสนี้ก็คือความมั่นคงของระบบสาธารณสุขที่เป็นจุดขายของประเทศไทยได้

ชำแหละสารพัดกลไก อุปสรรคฝ่าฟันวิกฤติ

นายโภคิน กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติโควิด-19 หรือไม่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาล คสช. วางไว้ ให้คนไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 2580 คือจะมีรายได้ต่อหัว/ต่อปี ประมาณ 500,000 บาท อาจจะไม่มีวันเป็นไปได้ หากไม่ปฏิรูปกลไกสำคัญ 3 ประการ ที่จะเอื้ออำนวยให้ประเทศเดินไปได้ คือ  

1. การปฏิรูปการเมืองให้เป็นระบบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้สร้างระบบการเมืองที่เป็นของประชาชนและมาจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการสร้างระบบการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น จึงไม่มีทางตอบโจทย์ยุค 4.0 ที่ซ้ำเติมโดยโควิด-19 ได้ เพราะยังเป็นอำนาจนิยมตอบแทนผลประโยชน์พวกพ้อง ตอบสนองทุนใหญ่ จึงไม่มีทางสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคมที่แข็งแรงและยั่งยืนได้ เพราะจะทำให้คนส่วนใหญ่อ่อนแอ ซึ่งโควิด-19 จึงกลายเป็นตัวช่วยในการอ้างต่ออายุอำนาจ และเป็นแพะให้แก่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

2. การปฏิรูประบบราชการ แม้การเมืองหลายยุคเผด็จการมีอำนาจมาก แต่ระบบราชการไทยกลับไม่เป็นเอกภาพ เมื่อเผชิญกับยุค 4.0 ซ้ำด้วยโควิด-19 ระบบราชการจึงไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีทางเป็นตัวกระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนประชาชนที่กำลังยากลำบากให้ฟันฝ่าไปได้เลย ซ้ำยังเป็นภาระและอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

3. การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัยไม่เอื้อต่อการทำมาหากินของประชาชน เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 แต่โควิด-19 ที่นำมาซึ่ง New Normal โดยการนำของกลุ่มอำนาจนิยม ระบบราชการ และบุคลากรที่ล้าหลัง ที่ยังติดยึดกับการใช้อำนาจ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่ใช่ประชาชน จะยิ่งสร้างรัฐราชการให้ใหญ่โต มีอำนาจมากขึ้น โดยการร่วมมือกับทุนใหญ่ และทุนเส้นสายต่างๆ ดังนั้นจึงต้องปรับระบบรัฐราชการให้เป็นรัฐประชาชน เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมประชาชน ในแง่การเข้าถึงข้อมูลในการทำมาหากิน การรวมตัว และสร้างเครือข่าย เพื่อให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ซึ่งถ้าไม่ปฏิรูปกลไกสำคัญเหล่านี้ เราก็จะไม่มีวันที่จะฟันฝ่าวิกฤติต่างๆ ที่กำลังจะถูกซ้ำเติมโดยวิกฤติโควิด-19 ไปได้เลย

ต้องฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด

ขณะที่ นายวัฒนา กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลเลือกใช้มาตรการยาแรงที่สุดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการล็อกดาวน์ปิดประเทศ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกชนิด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ การควบคุมยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และการควบคุมจำนวนผู้ป่วยให้อยู่ในระบบสาธารณสุขที่สามารถรองรับได้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้อยู่ในภาวะปกติแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อไปคือคืนความเป็นปกติให้กับประเทศไทย และรีบฟื้นฟูเศรษฐกิจทันที เพราะก่อนเกิดโควิด-19 เศรษฐกิจก็แย่พออยู่แล้ว พอเกิดโควิด-19 เศรษฐกิจก็ยิ่งแย่กันไปใหญ่ อานุภาพของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกพร้อมใจกันหยุดชะงัก วันนี้ได้ล้างไพ่ มานับหนึ่งพร้อมกัน จะทำอย่างไรให้เราบาดเจ็บน้อยที่สุด 

ในมุมมองของพรรคเพื่อไทย สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ คือ ต้องฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด รุกก่อน ไปก่อน ชนะก่อน ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นอนาคตของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย หลังจากที่คนต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว วันนี้คนหันมาใส่ใจสุขภาพและตระหนักในสิ่งที่เรียกว่าอาหารปลอดภัยกันอย่างมาก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการก็น่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ยิ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดความตายจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย และระบบสาธารณสุขที่ดีในระดับดีมากประเทศหนึ่ง นั่นคือโอกาสที่คนจะยิ่งเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมด้านบริการด้วย ส่วนอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ไทยก็มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีอยู่แล้ว ยิ่งมีสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ยิ่งตอกย้ำว่าเราเด่นในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ต่อมาก็คือ อุตสาหกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ประเทศไทยสามารถเป็นบ้านหลังที่ 2 ของคนมีฐานะได้ แต่ถ้าถามว่ากว่าจะถึงโอกาสตรงนั้น ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่จะต้องทำคือการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และรัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทันที