“เพื่อไทย”ย้อน“วิษณุ”ถ้าปรองดองสำคัญที่ใจ ผู้อาสาแก้ปัญหาต้องเป็นเจ้าภาพ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า ปรองดองสำคัญที่ใจว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่ออาสาเข้ามาแก้ไข ต้องเป็นเจ้าภาพ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงทั้งใจเขาและใจเรา และขอให้ความเห็นไว้เพิ่มเติม 3 ประการ ดังนี้ 1.เป็นที่ทราบกันทั้งประเทศและทั่วโลกที่ติดตามข่าวการเมืองในประเทศไทยว่า เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่คสช.ประกาศในการยึดอำนาจการปกครองเมื่อ22 พ.ค.57 ว่า เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง สร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ เมื่อเป็นเหตุผลหลักหรือสำคัญข้อหนึ่ง ประชาชนก็เฝ้าติดตามการอาสาเข้ามาแก้ปัญหาหลักที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของการยึดอำนาจ แต่ 1 ปีเศษที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจได้ให้ใจตรงกับวัตถุประสงค์ของการยึดอำนาจหรือไม่ ผู้ปฏิบัติน่าจะรู้ใจตนเองดีที่สุด แต่เสียงเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
ซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งยังมีอยู่มาอย่างต่อเนื่อง และจนถึงขนาดมีการวิพากษ์ไปว่า ท่านอาสาเข้ามาเป็นผู้แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเพิ่มเติมเสียเองหรือไม่ ซึ่งท่านน่าจะได้รับเสียงวิพากษ์นี้ทุกวันบนหน้าสื่อ หากเห็นว่าเสียงสะท้อนดังกล่าวมีเหตุผลบ้าง แล้วกลับมาสู่ที่ตั้งคือวัตถุประสงค์ที่ประกาศอาสาเข้ามาแก้ปัญหา ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รัฐบาลเมื่ออาสาเข้ามาเป็นเจ้าภาพ ต้องเป็นผู้ใหญ่ เสียสละ อดทน เป็นกลาง ไม่เลือกข้าง ที่สำคัญไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ทั้งนี้ในแต่ละองค์กรล้วนมีบุคลากรที่หลากหลาย มีบทบาทภาระหน้าที่แตกต่างกัน การให้ความเห็นหนักบ้าง เบาบ้าง ล้วนหวังดีต่อบ้านเมือง ที่สำคัญ ยืนหยัดในแนวทางประชาธิปไตยจึงไม่ควรติเรือทั้งโกลนจนทำให้ปัญหาย่อยเฉพาะจุด เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาภาพรวมของประเทศ ซึ่งเป็นการเสียเวลาและโอกาสในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศอย่างยิ่ง
นายชวลิต กล่าวอีกว่า 2.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีตที่ประสบความสำเร็จ ผู้มีอำนาจทางการบริหารท่านให้ใจกับประชาชน เห็นความสงบสุขส่วนรวม เศรษฐกิจ ปากท้องประชาชนเป็นสำคัญ ท่านมิได้ใช้แต่เพียงหลักนิติศาสตร์ หลักรัฐศาสตร์ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น แต่ท่านน้อมนำคุณธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งแต่ละสถานการณ์ถ้าใช้ปัจจัยสำคัญดังกล่าวประกอบการแก้ปัญหาก็สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันนี้ผู้มีอำนาจทางการบริหารได้ใช้ปัจจัยที่ผู้บริหารในอดีตแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจนเป็นผลสำเร็จมาเป็นแนวทางหรือไม่ วิญญูชนคงพิจารณาเองได้ และ 3.มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ถืออำนาจการปกครองใช้กลไกออกกฎหมายเพื่อป้องกันตนเอง ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และอาจกำหนดในบทเฉพาะกาลในร่าง รัฐธรรมนูญที่กรธ.กำลังดำเนินการอยู่ก็เกิดเป็นข้อเปรียบเทียบว่า ถ้าผู้มีอำนาจทางการบริหารจะมีใจที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งอะไรที่ทำได้ทำเลย อะไรที่ยังทำไม่ได้ทันที เพราะอะไร ควรชี้แจงโดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำให้กับตนเองและคณะในการออกกฎหมายป้องกันตนเองว่าทำไมทำได้ ก็จะทำให้ฉุกคิดถึงคำว่า ต้องคำนึงถึง ใจเขา ใจเรา สังคมและประเทศชาติถึงจะสงบสุข
นายชวลิต กล่าวด้วยว่า การให้ความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของตนครั้งนี้มิได้เป็นการมากราบกราน มาอ้อนวอน แต่มาขอให้ท่านทำตามเจตนารมณ์ที่ประกาศต่อสาธารณชนไว้ ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อยากจะเห็นความขัดแย้งหมดไปหรือเหลือน้อยลง ไม่ทิ้งมรดกความขัดแย้งให้ลูกหลานของเรารุ่นต่อไปแก้ไขไม่รู้จบ ตนยังหวังและให้กำลังใจให้ผู้มีอำนาจ ใจใหญ่ อดทนต่อความเห็นต่าง อยากเห็นวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้สำเร็จในส่วนใหญ่ แม้ไม่ทั้งหมด ถ้าทำได้ก็จะฉีกคำทำนายโหรต่างๆ ลงได้อย่างสิ้นเชิง ตนเพียรพยายามให้ความเห็นในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มรู้สึกเหนื่อยใจบ้างแต่ไม่ถึงกับท้อ ที่ยังเหนื่อยใจเพราะยังไม่เห็นการลงมือด้วยความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ แต่กลับจะวางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไปอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งในเวลาและปัจจัยที่มีอยู่ควรเป็นเรื่องรอง ตนยังหวัง แม้ความหวังจะค่อนข้างเลือนลาง ลมๆ แล้งๆ ถ้าไม่กลับมาสู่ที่ตั้งตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้
ที่มา : www.nationtv.tv