‘จิราพร’ ชี้ ภาพลักษณ์เผด็จการประยุทธ์เป็นอุปสรรคในเวทีโลก เย้ยเป็นได้แค่ผู้จัดประชุมเอเปค แต่ไม่เป็นผู้นำที่เชิดหน้าชูตา ยกนโยบายเศรษฐกิจสองทางสมัยทักษิณทำให้จัดเอเปคแล้วปัง
นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 นี้ว่า ในอดีตประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ครั้งที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด คือการจัดการประชุมเมื่อปี 2546 ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่นอกจากจะโดดเด่นในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุก สามารถแสดงบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ทั่วโลกต้องจับตามองไทย และพาผู้นำประเทศมหาอำนาจ และเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาร่วมเวทีเดียวกันได้สำเร็จแล้ว
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากเวทีการประชุมเอเปคในครั้งนั้น คือ รัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสองแนวทาง หรือ Dual Track Policy ที่เน้นให้ไทยแสวงหาประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกภายในประเทศให้แข็งแกร่ง จึงเกิดการผลักดันนโยบายอย่างเป็นระบบเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในประเทศให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงนโยบายการเตรียมความพร้อมประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยดำเนินการไปพร้อมกับการดำเนินนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ ใช้เวทีการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะโอกาสการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ประสานประโยชน์เพื่อยกระดับนโยบายในประเทศเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยที่เคยประสบปัญหาจากวิกฤตต้มยำกุ้งและการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส สามารถกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด จนเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการพัฒนากลับต้องสะดุดหยุดลงเพราะการทำรัฐประหาร
ในขณะที่ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำที่มาจากการทำรัฐประหารสืบทอดอำนาจ มีสถานะที่อ่อนด้อยไม่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก และยังไม่มีนโยบายภายในประเทศที่ช่วยวางรากฐานให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตในระดับนานาชาติได้ เน้นเพียงมาตรการระยะสั้น และการแจกเงิน ซึ่งไม่ใช่นโยบายที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน นับวันยิ่งทำให้คนจนในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 22 ล้านคน ท่ามกลางหนี้สาธารณะประเทศทะลุ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 15 ล้านล้านบาท
แม้ในการประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) ซึ่งเป็นหลักคิดที่ดีในการเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสมดุล แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ภายใต้การบริหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แนวคิดนี้อาจเป็นเพียงแค่วาทกรรมสวยหรูแต่ไม่สามารถทำให้ไทยได้ประโยชน์จริง เพราะผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ SME ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากวิกฤตโควิด-19 แต่ไร้มาตรการเยียวยาช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐบาล ทำให้ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก บางส่วนที่ยังอยู่ได้ก็หายใจรวยริน จนอาจจะไม่รอดถึงวันที่จะได้ใช้ BCG Model ในการฟื้นฟูธุรกิจของตน
“นอกจากสถานะผู้นำเผด็จการที่มาจากการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาในเวทีโลกแล้ว การที่รัฐบาลไม่มีนโยบายในประเทศที่สามารถเชื่อมโยงให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติได้ เน้นเพียงการแจกเงิน ไม่ได้วางโครงสร้างประเทศเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับความอ่อนด้อยในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ พลเอกประยุทธ์เป็นได้เพียงแค่ผู้จัดการประชุมนานาชาติ แต่ไม่เป็นที่เชิดหน้าชูตา และจะไม่สามารถใช้เวทีการประชุมเอเปคแสดงบทบาทนำเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้” นางสาวจิราพร กล่าว