เพื่อไทยค้านมติบอร์ด สปสช.ชะลอจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กลุ่มประกันสังคม สิทธิข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ กระทบคนไทย 13.5 ล้าน ‘ชลน่าน’ ชี้เร่งหาทางออกก่อนสาย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ได้มีมติชะลอการจ่ายเงินงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในส่วนของประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองออกไปก่อน เนื่องจากมีข้อทักท้วงทางกฎหมายในประเด็นงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น โดยให้รอความเห็นจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา

จึงมีผลให้งบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค งบป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี งบประมาณระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะส่วนของผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองถูกชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด

การชะลองบประมาณดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากมายที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง เช่น ทำให้ การฉีดวัคซีนที่จำเป็นและสำคัญในเด็ก, การให้ยาป้องกันในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี, การให้ยายุติการตั้งครรภ์ และการให้ถุงยางอนามัยแก่ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์บัตรทองถูกยกเลิกให้บริการจากสถานบริการเดิม แล้วให้ไปรับบริการจากสถานบริการอื่นตามสิทธิอื่นที่มีอยู่ ทำให้เกิดความสับสน และความเดือดร้อนไม่สะดวกต่อประชาชน

ที่จริงแล้ว การให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ทุกสิทธิเป็นบทบาทที่ สปสช ได้ทำต่อเนื่องกันมา 10 กว่าปี อีกทั้งงบประมาณที่ สปสช.ขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก็แจ้งไว้ว่า จะใช้งบประมาณก้อนนี้สำหรับประชาชนทุกสิทธิ

ดังนั้น หาก สปสช.กังวลเรื่อง ข้อทักท้วงทางกฎหมาย ก็ควรทำให้เกิดความชัดเจน แต่ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมากมายเช่นนี้ โดยจัดให้บริการไปพลางก่อนเหมือนที่ได้ปฏิบัติมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ระหว่างรอการพิจารณาทางกฎหมาย

นายแพทย์ชลน่าน ขอเรียกร้องให้

1.กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ต้องรีบจัดสรรงบไปยังสถานบริการให้เร็วที่สุด ตามขั้นตอนและวิธีการเดิมไปก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน
2.เร่งพิจารณาข้อกฎหมาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องรีบชี้ชัดในข้อกฎหมายโดยเร็ว
3.อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าการชะลอการจ่ายเงินส่วนนี้เป็นการละเมิด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 หรือไม่

“การชะลอจ่ายประมาณส่วนนี้ไป รวมแล้ว 514 ล้านบาท กระทบกับพี่น้องประชาชน 13.5 ล้านคน ทั้งกลุ่มผู้มีประกันสังคม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีกลุ่มบิดา-มารดาของผู้ที่ได้ใช้สิทธินี้ได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการตีความของคณะที่ปรึกษาทางกฎหมายที่มีข้อสังเกตจึงส่งไปให้คณะกฤษฎีกาตีความ ทั้งที่งบประมาณส่วนนี้ดำเนินการกันมาตั้งแต่ปี 2545 ไม่มีปัญหาอะไร อีกทั้งงบก้อนนี้อยู่ในงบประมาณปี 2566 ซึ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปแล้ว ขาเข้าสมาชิกรัฐสภาคำนวณให้หมด แต่ขาออกเอางบไปพักเอาไว้ ถ้าเป็นผม จะปลดที่ปรึกษากฎหมายคนนี้ออก ถ้าไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ รอการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เลย” นายแพทย์ชลน่าน

นายชานันท์ ยอดหงส์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อสุขภาพพี่น้องประชาชน และต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขจะต้องดำเนินการพิจารณาประเด็นนี้โดยด่วน โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า HIV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และในปัจจุบันมีการป้องกันและรักษาแล้ว โดยสามารถทำได้ผ่านการใช้ถุงยางอนามัยและการรับประทานยา ซึ่งยาที่ประเทศไทยใช้อยู่คือตัวยาเพร็พ (PrEP) กับยาเป็ป (PEP) ซึ่งยาเป็บ (PEP) คือยาที่ป้องกัน HIV หลังจากได้สัมผัสเชื้อแล้วหรือยาต้านฉุกเฉิน ใช้ในกรณีที่ผู้มีเพศสัมพันธ์อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเข้าร่างกาย เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 80% และยิ่งได้รับยาเร็วมากเท่าไร ย่อมมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ดีขึ้นเท่านั้น

ส่วนตัวยาเพร็พ (PrEP) เป็นยาป้องกันก่อนได้รับเชื้อ ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันสูงถึง 99% ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีคนไทยที่หันมาบริโภคกันมากขึ้น ในปี 2564 มีผลสำรวจพบว่ามีผู้บริโภคยาเพร็บในประเทศไทยถึง 2.4 – 2.5 หมื่นคนต่อปี และในจำนวนผู้รับยาเพร็บมีถึง 60% ที่รับยาผ่านคลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคม มีเพียง 15% ที่รับผ่านโรงพยาบาล ที่เหลือเป็นการซื้อบริโภคเอง แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการเลือกรับบริการในการเข้าถึงยาอย่างมาก

ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่อนุญาตให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจ่ายยาเพร็พและยาเป็บ (PrEP, PEP) ให้กับประชาชน ทำให้คลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคมต้องยุติการให้ยา ทั้งที่ผ่านมาคลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคมทำงานอย่างหนักในการให้ประชาชนเข้าถึงยาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จัดการบริการยาเพร็พเชิงรุก ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างง่ายและลดอัตราผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV รายใหม่ได้

โดยสถิติการจ่ายยาของภาคประชาสังคมในปี 2565 มีผู้รับยาเพร็พจากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) 6,600 กว่าคนในปี 2565 คลินิกนิรนาม 2,700 กว่าคน และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 6,500 กว่าคน ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่นำยาเพร็พเข้ามาป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้จ่ายยาเพร็พให้กับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง เพื่อดูสถิติแล้ว พบว่า ในพื้นที่ กทม. ที่มีผู้บริโภคยาเพร็พมากกว่าที่สุด ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มลดลงด้วย

“การให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น เป็นการสร้างปัญหาให้กับการจัดการของโรงพยาบาล รวมถึงสร้างปัญหาในการเข้าถึงยาป้องกันเชื้อ HIV ของประชาชน เนื่องจากโรงพยาบาลให้บริการในเวลาราชการและมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้ผู้ต้องการใช้ยาเพร็พใช้เวลานาน หรือต้องหยุดงานเพื่อรอรับยาเพร็พ ทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ขาดรายได้เพื่อเข้าถึงยา ต่างจากศูนย์บริการทางการแพทย์ของภาคประชาสังคมที่สามารถจองคิวล่วงหน้าได้ อีกทั้งศูนย์บริการฯ ยังเก็บข้อมูลในรูปแบบนิรนาม จึงทำให้ผู้รับบริการรู้สึกสบายใจและเป็นส่วนตัว ต่างจากการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่ต้องใช้บัตรประชาชน เพราะโรงติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องส่วนตัวมาก

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องทราบดีกว่า บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานล้นมืออยู่แล้ว ทำไมถึงออกมาตรการยาเพร็พที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันมากขึ้น ซ้ำร้ายยังเป็นการทำลายบทบาทความสำคัญของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้มาอย่างยาวนานและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

นายชานันท์กล่าวว่า ปี 2564 ผู้รับบริการยาเพร็พ มี 25,000 รายต่อปี เป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชนชาติ หรือ UNAIDS ที่ตั้งเป้าหมายให้ประชากรไทยเข้าถึงยาเพร็พได้ 140,000 คนต่อปี หากมีการดำเนินการนี้ต่อไป อาจทำให้มีผู้มารับยาเพร็พน้อยลงไปด้วย และส่งผลต่อสุขภาวะของคนไทย

ในปี 2565 มีประชากรไทยติดเชื้อ HIV 520,000 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 6,500 คน พบในกลุ่มชายรักชาย หญิงข้ามเพศ พนักงานบริการทางเพศ กลุ่มวัยรุ่น และคู่รักที่มีผลเลือดต่างกัน ซึ่งภายหลังประกาศนี้ ก็มีกลุ่ม LGBT ที่ออกมาต่อต้านประกาศดังกล่าวอย่างมาก

“การดำเนินการนี้ยังขัดกับหลักยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ตั้งแต่ปี 2560-2573 ที่ตั้งเป้าลดผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV รายใหม่ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี และปี 2573 จะขจัดโรค HIV หรือเอดส์ไปจากประเทศไทย บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขคือการเสริมสร้างสุขอนามัย การป้องกันควบคุมโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน จำเป็นต้องพัฒนาการเข้าถึงและกระจายทรัพยากรให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่การผูกขาดทรัพยากรที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยและอ่อนแอลง จึงขอให้เรียกร้องให้คลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคมดำเนินการให้บริการยาเพร็พต่อไปได้ โดยมีภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ และในฐานะตัวแทน LGBT ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข คิด วิเคราะห์ และแยกแยะประเด็นนี้อย่างรอบคอบ”นายชานันท์ กล่าว

ด้าน ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับความห่วงใยในประเด็นนี้ นโยบายบางเรื่องที่พรรคการเมืองบางพรรคประกาศคือการพูดแล้วทำ แต่เรื่องที่ทำบางเรื่องอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคเพื่อไทยขอฝากประเด็นนี้และฝากความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชน และสัญญาว่าจะดำเนินการเรียกร้องสิทธิในประเด็นนี้อย่างเต็มที่

Tags: