ไวรัสเมอร์ส โรคใหม่ อันตราย ไร้วัคซีน
ในช่วงที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่ค้นพบวัคซีนรักษาได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ไวรัสดังกล่าวเป็นสายพันธุ์เดียวกับโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ซึ่งเป็นพี่น้องกับ ซาร์ส (SARS) ที่คร่าชีวิตผู้คนในทวีปเอเชียไปถึง 774 ราย จากทั้งหมด 29 ประเทศในปี 2546 ชื่อของยมทูตตัวใหม่นี้ถูกเรียกในชื่อของ ไวรัส เมอร์ส (MERS-Middle East Respiratory Syndrome)
จากการตรวจหารหัสพันธุกรรมทั้งตระกูลของโคโรนา พบว่า เมอรส์โคโรนาไวรัสมีรหัสพันธุกรรมกลุ่มเดียวกับไวรัสที่พบในค้างคาวกินแมลงในแอฟริกาใต้ จึงอาจนำโรคมาสู่คนในตะวันออกกลาง โดยมีอูฐเป็นพาหะ เพราะสามารถพบตัวพันธุกรรมไวรัสในจมูก มูล ปัสสาวะ แม้ในอากาศที่บริเวณเดียวกับที่อูฐอาศัย ทั้งนี้อาจเพราะมนุษย์ไปสัมผัสเข้าจึงเกิดโรคโดยผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวซาอุดีอาระเบีย อายุ 60 ปี เข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจไม่ทัน และเสียชีวิตในวันที่ 24 มิถุนายน 2012
Steven Szczepanek ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและวัคซีนภูมิคุ้มกันวิทยา กล่าวว่า พื้นผิวของโคโรนาไวรัสที่เป็นตัวแพร่เมอร์ส มีลักษณะเช่นเดียวกับซาร์สและอีโบลา คือคล้ายมงกุฎ ซึ่งหมายความว่ามันสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ และยืนยันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับค้างคาวแน่นอน ทั้งนี้ยังพบว่า ‘อูฐ’ มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวนมากอีกด้วย
ข่าวเรื่องไวรัสเมอร์สเริ่มเป็นกระแสบนโลกออนไลน์มากขึ้นเมื่อพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสเมอร์สในเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกับไทย โดยวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมามีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 33 ราย ยอดผู้ติดเชื้อ 185 คน ในจำนวนนั้นมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลได้ นั่นแปลว่าหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็ยังพอมีโอกาสรอด ก่อนหน้านี้ Margaret Chan ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาชื่นชมการดำเนินการป้องกันแก้ไขสถานการณ์ของเกาหลีใต้ จากเดิมที่เคยมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสมากถึง 6,700 คน กลับลดลงเหลือเพียง 4,035 คน ภายในเวลาไม่ถึงอาทิตย์ และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทยก็ได้พบผู้ติดเชื้อเมอร์สซึ่งถือเป็นเรื่องน่าวิตก โดยผู้ป่วยรายแรกนี้เป็นชาวโอมานอายุ 75 ปี ไม่เคยสัมผัสกับอูฐ แต่เคยดื่มนมอูฐูก่อนเดินทางเข้ามาในไทยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 โดยมีอาการเดียวกับชาวซาอุดีอาระเบียที่เสียชีวิตรายแรก ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจพบและดำเนินการให้การรักษาในพื้นที่ควบคุม รวมถึงดูแลตรวจสอบผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนรัฐบาล กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการคลัง ต่างมั่นใจ และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
โดยมาตรการป้องกันจากกระทรวงสาธารณสุขที่บุคคลทั่วไป และคนที่วางแผนเดินทางเข้าประเทศในกลุ่มเสี่ยงอย่างเกาหลีใต้ควรปฏิบัติ คือ
1. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม
2. ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสบู่
3. ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับบุคคลอื่น เมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย สำหรับผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หากมีอาการดังกล่าวภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
4. ประชาชนที่ไม่ได้สัมผัสพื้นที่เสี่ยง หากมีไข้ ไอ ไม่ต้องกังวล ไปพบแพทย์เพื่อรักษาหรือโทรปรึกษา สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมงหรือติดตามข่าวสารทางเฟสบุ๊ค “ไทยสู้เมอร์ส”
ในอดีตที่ผ่านมาคนไทยเคยต่อสู้กับโรคซาร์สและไข้หวัดนกมาแล้ว ด้วยมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดในสมัยรัฐบาลทักษิณ นอกจากนี้ยังมีโรคไข้เลือดออกอีโบลา ที่คณะแพทย์ศิริราชฯ คิดค้นแอนติบอดีรักษาได้สำเร็จ เรื่องเมอร์สเองขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด ต้องชื่นชมกระทรวงสาธารณสุขที่รับมือกับปัญหาได้รวดเร็ว คนไทยคงรู้สึกปลอดภัยไปได้สักระยะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม หลายหน่วยงานคงต้องเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ เพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยคงไม่ได้เป็นหน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเพียงอย่างเดียว
แหล่งข้อมูล
http://www.thairath.co.th/content/505372
http://www.hfocus.org/content/2015/06/10214
http://www.thairath.co.th/content/454178
http://www.reuters.com/article/2015/06/22/us-health-mers-southkorea-idUSKBN0P200C20150622
http://www.aljazeera.com/news/2015/06/south-korea-reports-mers-cases-150621044938952.html
http://www.reuters.com/article/2015/06/16/replikins-mers-corona-idUSnPn25sRPr+86+PRN20150616
http://today.uconn.edu/2015/06/mers-should-we-be-worried/
http://news.thaipbs.or.th
http://www.thairath.co.th/content/506571
http://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=73989
http://www.thairath.co.th/content/506264
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/653138
http://www.dailynews.co.th/foreign/332647
นายแพทย์ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์. (2003). บทเรียนการระบาดของโรคซาร์สในทวีปเอเซีย: โครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข. หลักสูตรระบาดวิทยาประยุกต์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรค.