รางวัล ITU กับความย้อนแย้งของ Digital Economy ภายใต้ Single Gateway

การรับรางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)  เป็นภาพสะท้อนของการดำเนินนโยบายการพัฒนาสังคมสารสนเทศและการสื่อสารของไทยได้เป็นอย่างดีว่า การเปิดพื้นที่ให้เกิดการสื่อสารอย่างเสรีและมีอิสระที่จะรับข้อมูลข่าวสารผ่านระบบโทรคมนาคมต่างๆ นั้น  ทำให้สังคมเกิดการพัฒนาทั้งด้านองค์ความรู้และภูมิปัญญาเป็นอย่างยิ่ง  สอดคล้องกับปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเจนีวา ที่ต้องการให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมสารสนเทศที่ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยรวมเอาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ภายในปี ค.ศ. 2015

รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ได้ให้ความสำคัญของนโยบายสังคมสารสนเทศมาตลอด จากที่ปรากฏเพื่อให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเกิดนโยบายที่มุ่งเน้นการใช้สารสนเทศในการเรียนรู้ เช่น โครงการ OTPC หรือ One Tablet Per Child เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงยุทธศาสตร์  Smart Thailand 2020 เพื่อเตรียมขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคอาเซียน โดยใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการสร้างอนาคตของประเทศไทย

ในเวลานั้นรัฐบาลเพื่อไทยได้เน้นความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยสำหรับปี พ.ศ. 2554-2563 หรือ ICT 2020 เพื่อมุ่งให้การบริการอินเตอร์เน็ตเข้าถึงชุมชน 80% ของประเทศ มีโครงการต่างๆ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งสร้างระบบอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ICT ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การขยายโครงข่ายเพื่อการศึกษาไปยังพื้นที่ห่างไกล การขยายการรักษาพยาบาลทางไกลผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การบริการทะเบียนราษฎร์ออนไลน์ และการบริการระบบศูนย์ข้อมูลการเกษตร

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยในเวลานั้น  เน้นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม ICTเป็นอย่างสูงด้วยเล็งเห็นความสำคัญและพลังของICT เป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่แนวคิดว่าด้วยเรื่อง Single Gateway ที่ได้ถูกนำเสนอออกมาโดยรัฐบาล คสช.ในเวลานี้ พร้อมกับนโยบายเรื่อง Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิตอล ด้วยเห็นว่ายุคสมัยใหม่เป็นยุคที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ด้วยอุตสาหกรรมดิจิตอลที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ กลับกลายเป็นเรื่องย้อนแย้งของนโยบายเป็นอย่างยิ่ง

ในนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลนั้น ถูกเน้นย้ำถึงการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกิจกรรม ตั้งแต่ภาคการผลิต ภาคบริการ ไปจนถึงการขายให้แก่ผู้บริโภค โดยเข้ามาในหลากหลายรูปแบบทั้งการสื่อสาร การจ่ายเงิน การขนส่ง การผลิต เพื่อให้เกิดการประหยัดในค่าใช้จ่ายดำเนินการแบบเดิมและยังสร้างการต่อยอดทางธุรกิจซึ่งจะสามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค

ซึ่งแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิตอล มีทั้งการกระจายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเสถียรภาพในราคาที่ถูกลงเพื่อให้รองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน  ICT ในประเทศไทย แต่หากมองย้อนมาที่แนวคิดเรื่อง Single Gateway กลับพบว่า เป็นการสวนทางของนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลในทุกมิติ

เมื่อใช้ Single Gateway จริงในทางปฏิบัติ นั่นหมายถึงการผูกขาดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศโดยรัฐเพียงรายเดียว ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับราคาโครงข่ายที่ถูกลงและประสิทธิภาพการบริการของโครงข่ายได้ดีขึ้นและยังง่ายต่อการถูกโจมตีด้วย Cyber War  เพราะเมื่อมีช่องทางเดียวในการติดต่อออกนอกประเทศทำให้เกิดความเสี่ยงของการล่มของระบบมากขึ้นหลายสิบเท่าตัว

ขณะเดียวกันการตรวจสอบข้อมูลโดยรัฐผ่าน Single Gateway ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน ภาคการผลิตซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาความลับของลูกค้า  ซึ่งอาจสร้างปัญหาในทางกฎหมายเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านธุรกิจที่เข้ามาลงทุนและการต่อยอดธุรกิจเป็นได้ยากขึ้น และเมื่อมีช่องทางเดียวในการติดต่อนอกประเทศ ย่อมส่งผลต่อความล่าช้าของความเร็วของโครงข่าย เพราะเมื่อทุกคนใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลพร้อมกันบนถนนเส้นเดียวกัน  ย่อมทำให้เกิดอาการติดขัดอย่างแน่นอน นั่นคือประสิทธิภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT ของไทยในเวทีโลกจะถดถอยลงอย่างเด่นชัด  

ขณะที่การรับรางวัล ITU ในครั้งนี้  เป็นเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมมาโดยตลอด มีการวางโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม เพราะผู้ประกอบการที่เกิดใหม่ในด้านดิจิตอลนับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นส่วนหนึ่งของพลังทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต

จึงนับว่าเป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งของ “การรับรางวัล ITU” ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมสารสนเทศและโทรคมนาคมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เครือข่ายครอบคลุมไปทุกพื้นที่ในราคาที่เป็นธรรม กับ “นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลผ่าน Single Gateway” เป็นอย่างมาก.
 
อ้างอิง
http://www.mict.go.th/view/1/Digital%20Economy
http://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2558/mar2558-2.pdf
http://www.khaosodonline.com/view_newsonline.php?newsid=1443328794
http://www.thaisocialist.com/word/?p=16900
http://m.manager.co.th/Home/detail/9560000143916
http://www.thansettakij.com/2015/08/23/8453
http://thaienews.blogspot.com/2015/09/itu-icts-in-sustainable-development.html