“ยรรยง” ถามกลับ! ไม่มีจำนำข้าวแล้ว ผลผลิตข้าวตกตํ่า ชาวนาก็ขายข้าวเปลือกได้ราคาตํ่า ทำไมไทยยังเสียแชมป์ส่งออกข้าว ?


เมื่อวาน (28 ม.ค.) ผู้ส่งออกข้าวแถลงว่าปี

2558 ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้อินเดียอีกแล้ว โดยอินเดียส่งออกได้ 10.23 ล้านตัน ในขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 9.79 ล้านตัน และได้ระบุถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะราคา
นํ้ามันตกตํ่าทำให้ไนจีเรียนำเข้าข้าวน้อยลง
เนื่องจากรายได้จากการขายนํ้ามันลดลง

ผมได้ติดตามเรื่องนี้มานาน จึงขอสรุปแบบฟันธงเลยนะครับ

ข้อสรุปที่หนึ่ง ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้อินเดียเมื่อปี 2556 ไม่ใช่เพราะโครงการรับจำนำข้าวดังที่มีการโจมตีอย่างรุนแรง เพราะโครงการรับจำนำข้าวถูกยกเลิกไปเกือบ 2 ปีแล้วก็ยังเสียแชมป์ส่งออกให้อินเดีย สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะเป็นช่วงที่อินเดียต้องการลดสต็อคข้าวที่สำรองไว้เพื่อ
การบริโภคในประเทศ (security reserve)
จึงเทขายส่งออกต่างหาก

ดังนั้น ที่มีการโจมตีว่าโครงการรับจำนำทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นจนไม่สามารถสู้ราคาอินเดียได้จนเสียแชมป์ส่งออก จึงไม่เป็นความจริง เพราะราคาส่งออกข้าวไทยต้องอิงราคาตลาดข้าวโลก ไม่ได้ส่งออกในราคาสูงเท่าราคารับจำนำแต่อย่างใด นอกจากนี้ราคาซื้อขายข้าวในตลาดภายในประเทศก็ยึดโยงกับราคาส่งออก ไม่ได้ยึดติดกับราคารับจำนำเช่นกัน

สาเหตุแท้ๆที่อินเดียส่งออกในปริมาณมาก
กว่าไทยในปี 2556 และปี 2558จึงไม่ใช่เพราะไทยมีโครงการรับจำนำข้าว แต่เป็นเพราะอินเดียต้องเร่งระบายสต็อคข้าวส่วน
เกินจึงต้องขายราคาถูกกว่าไทย

ข้อสรุปที่สอง คือ กลไกตลาดข้าวไทยและตลาดข้าวโลกไม่ใช่ตลาดสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากราคาข้าวที่ตกตํ่าทั้งๆที่ผลผลิตลดน้อยลงประมาณ 5-7 ล้านตัน แต่ราคาข้าวเปลือกเจ้า5% ก็เพียง 6500-7800 บาท 
(ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ราคาในตลาดทั่วไป
ประมาณตันละ 9000-11500 บาท) ส่วนราคาส่งออก FOB ข้าวสารเจ้า5% ปี 2558
ตันละประมาณ 350-370 เหรียญสหรัฐ
(ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 420-500
เหรียญสหรัฐ) ถ้ากลไกตลาดข้าวสมบูรณ์
มีประสิทธิภาพ คือถ้ากลไกตลาดทุกส่วนได้แก่ ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้ผลิตข้าวบรรจุถุงและผู้บริโภค มีอำนาจต่อรองเท่าเทียมกัน ราคาข้าวในปี 2558 และ 2559 ควรจะสูงขึ้นมากเพราะผลผลิตมีน้อย

ผมมีข้อเสนอแนะดังนี้ครับ

1. รัฐบาลควรร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อยกราคาข้าวให้สูงขึ้น  โดยทำให้กลไกราคาทำหน้าที่อย่างแท้จริง กดดันให้กลไกตลาดแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เช่นหามาตรการเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้ชาวนา รวมทั้งขจัดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (ควรพิจารณาว่าอินเดียส่งออกข้าวในราคาตํ่ากว่ามูลค่าปรกติ (normal value) หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรพิจารณาฟ้องคดีทุ่มตลาดต่อองค์การการค้าโลก(WTO) ซึ่งจะให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและไม่ถูกชกใต้เข็มขัดอีกต่อไป

2. ควรยุติการสร้าง “มายาคติไทยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลก” ที่เน้นการส่งออกเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ควรมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของไทยให้มีความเข้มแข็ง
ทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะทำใ้ห้ชาวนาซึ่งเป็นผู้ผลิตตัวจริงจำนวนกว่า 17 ล้านคนได้รับผลตอบแทนจากการขายข้าวซึ่งเป็นผลผลิตของตนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในราคาที่เป็นธรรม

ผมมีข้อสังเกตว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอีกหลายอย่างเป็นเบอร์หนึ่งของโลก
ในเชิงปริมาณมานับสิบปี เช่น มันสำปะหลัง (ชนะอินโดนีเซียและเวียดนาม) และยางพารา (ชนะอินโดนีเซียและมาเลเซีย)
ก็ไม่เคยเห็นอุตสาหกรรมดังกล่าวเขาสร้างภาพว่าไทยเป็นแชมป์โลกและต้องรักษาแชมป์ให้ได้ตลอดไป เห็นแต่ในวงการเหล่านี้ร่วมมือกันเสนอแนะและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างจริงจังนะครับ

ยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์