เล่าเรื่องผู้นำสตรี : Sheikh Hasina นางสิงห์เหล็กแห่งบังกลาเทศ
นางชีค ฮาสินา เป็นบุตรสาวของนายชีค มูจิบู เราะห์มาน ประธานาธิบดีคนแรกของบังคลาเทศ และยังเป็นบิดาแห่งการก่อตั้งบังคลาเทศ ชีวิตในช่วงเริ่มแรกของเธออยู่ในช่วงของสงครามแบ่งแยกประเทศออกจากปากีสถาน ในเวลานั้นมีความรุนแรงทางการเมืองมาก ทำให้บิดาและครอบครัวของเธอถูกต้องประสบเหตุร้ายอย่างแสนสาหัสในเวลานั้น
เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2518 ทหารได้ทำการยึดอำนาจจากบิดาของเธอ – นายชีค มูจิบู เราะห์มาน ประธานาธิบดีบังคลาเทศ ทหารกลุ่มหนึ่งเข้าไปยังบ้านของเธอและสังหารหมู่บิดา มารดาและพี่ชายทั้งสามของเธออย่างเหี้ยมโหด ขณะนั้นเธอกำลังเดินทางเยือนประเทศเยอรมนีตะวันตกอยู่พร้อมน้องสาวทำให้รอดชีวิต แต่ทว่ากลุ่มทหารที่ยึดอำนาจในเวลานั้นได้สั่งห้ามเธอกลับเข้าประเทศ ทำให้ในที่สุดต้องลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษและอินเดียในเวลาต่อมา
ปี 2524 นางชีค ฮาสินาได้เดินทางกลับประเทศ แต่เป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองอยู่ในความรุนแรง เกิดการสังหารนายพลเซียอูล เราะห์มาน ประธานาธิบดีในขณะนั้น และเธอเองก็ถูกจับขังคุกเป็นเวลา 3 เดือนและเมื่อเธอออกจากคุก เธอตัดสินใจก้าวสู่สนามเลือกตั้งอยางเต็มตัวเป็นครั้งแรกในปี 2529 ช่วงดังกล่าวเธอได้ร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อกดดันรัฐบาลทหารจนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศแทนประธานาธิบดี และในที่สุดนำไปสู่การเลือกตั้งปี 2534
แต่การเลือกตั้งครั้งนั้น เธอประสบความพ่ายแพ้ ผู้ได้รับชัยชนะคือ นางคาเลดา เซีย แนวร่วมที่เคยช่วยเหลือกันมาก่อน ขณะเดียวกันนางชีค ฮาสินาได้กลายเป็นผู้นำฝ่ายค้าน การต่อสู้ทางการเมืองเวลานั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น จนกดดันให้รัฐบาลนางคาเลดา เซียประกาศลาออกทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ นางชีค ฮาสินาได้รับชัยชนะ และเธอได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในปี 2539
แต่ทว่าการเมืองคือความไม่แน่นอน ความนิยมที่ลดลงทำให้ต่อมาการเลือกตั้งในปี 2545 นางชีค ฮาสินาต้องพ่ายแพ้ให้กับทางพรรคบีเอ็นพีของนางคาเลดา เซีย แม้ในสนามการเลือกตั้งจะพ่ายแพ้ แต่นอกสนามกลับมีความรุนแรงมากขึ้น มีการปาระเบิดใส่ระหว่างการหาเสียงในปี 2547 โดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ส่งผลให้นางชีค ฮาสินาได้รับบาดเจ็บทางหูอย่างรุนแรง
การต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงระหว่างนางคาเลดา เซียและนางชีค ฮาสินา ทำให้ทหารได้เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยยึดอำนาจและจับกุมทั้งสองไว้ พร้อมตั้งข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น การฆาตกรรมและการใช้อิทธิพลทางการเมือง พร้อมทั้งกดดันให้เดินทางออกนอกประเทศ จนกระทั่งเวลาต่อมามีการแทรกแซงจากชาติตะวันตก ทำให้สุดท้ายบรรยากาศการเมืองเริ่มคลี่คลายและสามารถนำประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งได้อีกครั้งในปี 2551 และพรรคสันนิบาตอะวามิ (AL) ของนางชีค ฮาสินา ก็ได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย
แต่ความร้อนระอุทางการเมืองยังดำเนินต่อไป โดยมีการเอารื้อฟื้นคดีเก่าสมัยสงครามกู้เอกราชขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ รวมทั้งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ล่าสุดมีการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อต้นปี 2557 พรรคสันนิบาตอะวามิ (AL) ของนางชีค ฮาสินา ยังคงรับชัยชนะ ทำให้นางชีค ฮาสินาได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สาม โดยกวาดที่นั่งในสภาไปได้ถึงร้อยละ 80 หรือ 232 ที่นั่งจาก 300ที่นั่ง แต่ทว่าการเมืองในบังคลาเทศยังระอุต่อไป โดยไม่มีทีท่าจะยุติลงง่ายๆ มีการเผาคูหาเลือกตั้ง มีการปะทะกันอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ศพ
เส้นทางการเมืองของหญิงเหล็กอย่างนางชีค ฮาสินา ถือว่าผ่านเส้นทางขวากหนามมาอย่างยาวนาน แม้ว่าเส้นทางการเมืองจะผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้งหลายครา แต่ก็ยังเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งมาโดยตลอด
เมื่อครั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เยือนประเทศบังคลาเทศอย่างเป็นทางการ มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บิดาแห่งชาติ (Sheikh Mujibur Rahman Memorial Museum) ซึ่งเป็นบ้านเดิมของบิดาผู้ก่อตั้งประเทศและเป็นบ้านเดิมของนางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการสังหารครอบครัวผู้ก่อตั้งประเทศโดยกลุ่มทหารที่ทำการยึดอำนาจ การได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ในครั้งนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือสมุดภาพ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ว่า
“ระหว่างการเยือนประเทศบังคลาเทศ ลูกสาวนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศพาชมพิพิธภัณฑ์บิดาแห่งชาติ โดยตาของเธอเสียชีวิตจากการถูกปฏิวัติ ขณะที่ยายของเธอถูกยิงเสียชีวิตในบ้านหลังนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจเป็นอย่างมาก และนั่นเป็นที่มาของการลุกขึ้นสู้จนสุดท้ายได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้นำประเทศ”