เตือนภัยแชร์ลูกโซ่!! อันตรายของคนอยากรวย!

แชร์ลูกโซ่คืออะไร?

หากมีแม่ค้าบอกคุณว่า “ซื้อทอง 1 บาท แถมฟรีอีก 1 บาททันที” หรือ “ร่วมกองทุนกับเราวันนี้ ดอกเบี้ย 50% ต่อเดือน” คุณจะเข้าร่วมหรือไม่?

ด้วยผลตอบแทนที่ดูมากผิดปกตินี้ ทำให้มีคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ ซึ่งในอดีตคดี ‘แชร์แม่ชม้อย’ มีผู้เสียหายถึงหลักหมื่น และจำนวนเงินในคดีที่ฟ้องร้องมีมากถึงพันล้าน! ปัจจุบันยังมีมิจฉาชีพกระทำการในลักษณะเดียวกันอีกมากและบางรายมีเงินหมุนในวงแชร์สูงถึงหมื่นล้าน!

แชร์ลูกโซ่สร้างความเสียหายให้ผู้คนอย่างไร? แชร์ลูกโซ่นั้นมีหลายรูปแบบ วิธีแตกต่างกัน ในที่นี้จะขอสมมติวิธีดำเนินการของมิจฉาชีพที่ใช้วิธีแชร์ลูกโซ่รูปแบบหนึ่ง ดังนี้

แม่ค้ารายหนึ่งจัดโปรโมชั่นขายทองคำซื้อ 1 บาท แถม 1 บาท… ลูกค้า A จึงซื้อทอง 1 บาท (ต้องได้เพิ่มอีก 1 บาท รวมเป็น 2 บาท จ่ายเงินเพียง 20,000 บาท), ลูกค้า B ซื้อทอง 6 บาท (ต้องได้เพิ่มอีก 6 บาท รวมเป็น 12 บาท จ่ายเงินเพียง 120,000 บาท)
สรุป ขณะนี้แม่ค้ามีเงินรวม 140,000 บาท ที่ได้จาก A และ B แต่ถ้าแม่ค้าจะเอาทองให้ครบทั้ง  A และ B ตามโปรโมชั่น 1 แถม 1 ต้องใช้เงินถึง 280,000 บาท ซึ่งมากกว่าที่แม่ค้ามีในตอนนี้ 1 เท่า

**ในที่นี้ขอตีราคาทอง 1 บาท เป็นเงิน 20,000 บาทถ้วน เพื่อสะดวกแก่การทำความเข้าใจ


   แม่ค้าจะยังไม่ให้ทองกับลูกค้าคนใด ระหว่างนั้นก็รอให้  A และ B ชวนเพื่อนอย่าง C, D, และ E มาซื้อเพิ่ม ขณะนี้แม่ค้ามีเงินเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีหนี้เพิ่มมากตามด้วยเพราะโปรโมชั่นแถมที่โฆษณาไว้

พอได้เงินมากถึงระดับหนึ่ง แม่ค้าก็จะเริ่มทยอยส่งทองให้ลูกค้าเท่าที่ให้ได้ โดยคำนวณจากจำนวนรายรับ ต้องมากกว่ารายจ่าย เพราะฉะนั้นลูกค้าหลายคนที่ซื้อทองไปจะยังไม่ได้ทองจนกว่าจะมีคนมาซื้อ เอาเงินมาให้แม่ค้ามากพอจนแม่ค้าพอใจจึงจะให้ทองตามโปรฯ ซึ่งระหว่างลูกค้ารอก็ไม่มีการสัญญา หรือประกันใดๆมารองรับว่าจะได้จริง
 

   เมื่อลูกค้า A และ E ได้ทองตามโปรโมชั่น 1 แถม 1 จริง ก็ชักชวนคนมาซื้อเพิ่มกลายเป็นเครือข่ายใหญ่เหมือนใยแมงมุม แม่ค้าได้รับผลประโยชน์เต็มๆเพราะเสียน้อยกว่าได้ ลูกค้าที่เคยซื้อแล้วกลับมาซื้ออีกเพราะหวังกำไรก็มี 

 
   จะเห็นได้ว่านี่คือการระดมเงินทุนของแม่ค้า ซึ่งไม่ทราบว่าเงินทุนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้อย่างไร ผิดกฎหมายหรือไม่ จะได้ผลตอบแทนหรือเปล่า อีกทั้งไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุนหรือถูกโกง
จำนวนเงินที่หมุนวนอยู่ในระบบนั้นมหาศาลไม่สามารถตรวจสอบได้ และการดำเนินคดีทำได้ยากเพราะไม่รู้ที่มาของเงิน หลายครั้งที่มีการฟ้องร้องเนื่องจากแม่ค้าไม่ให้สินค้า หรือเงินปันผลตามที่โฆษณา บางรายหนีออกนอกประเทศ ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงเงินตรา หรือฟอกเงิน ทำให้ยิ่งยากต่อการตรวจสอบจับกุม

   วิธีสังเกตง่ายๆว่าตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่อยู่หรือไม่ มีวิธีดูดังนี้

1.   กองทุนหรือสินค้าที่กำลังจะลงทุนอยู่ให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เช่น ซื้อทอง 1 บาท แถมฟรีอีก 1 บาท หรือนำเงินเข้ากองทุนจะได้เงินปันผลถึง 50%
2.   กรณีเชิงธุรกิจ ผู้สมัครจะถูกบังคับจ่ายค่าแรกเข้าราคาแพง ค่าฝึกอบรม หรือซื้อสินค้าและบริการที่คุณภาพต่ำ ไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน ไม่สนใจยอดขาย เน้นหาสมาชิก จดทะเบียนกับ สคบ.จริง แต่ไม่ดำเนินการตามที่จดทะเบียน

ด้วยกำไรล่อตาล่อใจ ผู้คนนับพันยอมเสี่ยงจนกระทั่งตกเป็นเหยื่อ บางรายต้องสูญเงินที่หามาทั้งชีวิตไปในพริบตา บางรายตกเป็นผู้ต้องหาสมรู้ร่วมคิด หากรู้สึกว่าตนเองกำลังเข้าไปพัวพันกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ สามารถโทรศัพท์แจ้งข้อมูลหรือติดต่อสอบถาม ‘ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ’ ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 1359 โดยศูนย์นี้เป็นหน่วยงานของรัฐในสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับเงินและหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ

แหล่งข้อมูล
http://www.1359.in.th/index.php
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000134413
http://www.posttoday.com/analysis/report/361364
http://www.thairath.co.th/content/672838
http://www.dailynews.co.th/crime/513438