มุมมองเศรษฐกิจปี 2558
1 มกราคม 2558
@ แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 ตัวเลขที่ออกมาทั้งจีดีพีที่
การท่องเที่ยว ดุลการค้า ที่ชะลอตัว ตรงนี้สะท้อนอะไร?
พิชัย: แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2558 ของประเทศไทยน่าจะไม่สดใสนัก
ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี การที่เศรษฐกิจของประเทศไทยมีขนาดเล็กและเป็นเศรษฐกิจเปิด
ทำให้ไทยต้องพึ่งต่างประเทศสูง
และเมื่อพิจารณากลจักรที่จะขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทยในแต่ละกลจักรจะพบดังนี้
กลจักรที่1)
การส่งออก การส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี
ไม่น่าจะขยายตัวมากนักในปี 2558 ทั้งๆ ที่การส่งออกปี 2557
จะขยายตัวติดลบ
ทั้งนี้เพราะประเทศไทยจะถูกตัดจีเอสพีจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (อียู)
และอียูไม่ยอมเจรจาเขตการค้าเสรีกับไทย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
นอกจากนี้ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในประเทศรัสเซีย จะทำให้เศรษฐกิจอียูที่แย่อยู่แล้ว
แย่ลงไปอีก ทำให้การส่งออกไปอียูลดลงเพิ่มเติม
และการส่งออกไปอเมริกาก็อาจจะถูกกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนมีการเจริญเติบโตลดลงและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังก็ยังไม่ฟื้น ดังนั้นด้วยปัจจัยทั้งหมด
การส่งออกของไทยในปี 2558 จึงไม่น่าจะขยายได้มากนัก
กลจักรที่2)
การท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของไทยปีละกว่าล้านล้านบาท ปรากฏว่าจำนวนนักท่องเที่ยวตกลงมากถึง
7-8% ในปี 2557 แทนที่จะขยายตัวตามแผน
และในปี 2558 ก็ไม่น่าจะดีนัก เนื่องจากการการที่ไทยยังคงกฏอัยการศึก
ทำให้ประกันภัยไม่คุ้มครอง
นักท่องเที่ยวที่มีฐานะดีและนักท่องเที่ยวไมซ์ที่มาในการประชุมสัมมนาของบริษัทที่ใช้จ่ายสูงจะไม่เดินทางมา
ประกอบกับวิกฤตการณ์ในรัสเซียจะทำให้นักท่องเที่ยวจากรัสเซียปี 2556 ที่มาไทยประมาณ 1.7 ล้านคน
และนับเป็นอันดับสามรองจากจีนและมาเลเซียต้องลดลงมาก
ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก
นักท่องเที่ยวที่หายไปส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่ฐานะดีมีการใช้จ่ายสูงที่ไม่อยากเสี่ยงกับภาวะการณ์ที่ไม่ปกติของไทย
ดังนั้นรายได้จะหายไป มากกว่าที่ประเมินไว้มาก
กลจักรที่ 3)
การลงทุนจากต่างประเทศน่าจะลดลง
เห็นได้จากยอดการส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 ที่ลดลงเหลือเพียง
7 แสนล้านบาทจากปี 2556 ที่มียอดประมาณ
1 ล้านล้านบาท และปี 2558 ก็อาจจะน้อยลง
ทั้งนี้เพราะภาวะการเมืองที่ไม่มั่นคง
การมีข่าวจะเปลี่ยนกฏหมายการทำธุรกิจต่างด้าวก่อนหน้านี้
อีกทั้งหลายบริษัทต่างประเทศที่คาดหวังจะมาลงทุนในไทยเพื่อได้สิทธิจีเอสพีได้ย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์แล้ว
กลจักรที่ 4) การบริโภคภายในประเทศ
ยังคงมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำเช่น ยางพารา ข้าว
อ้อย ทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อย การจับจ่ายใช้สอยก็น้อยไปด้วย
คนชั้นกลางรายได้ก็น้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนคนที่มีรายได้สูงและมีฐานะดีก็มัวแต่ห่วงเรื่องการโยกย้ายทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีมรดกที่กำลังจะออกมา
ทำให้ไม่มีใจในการจับจ่ายใช้สอยมากนัก จึงทำให้การบริโภคโดยรวมยังไม่ดี
กลจักรที่ 5) การใช้จ่ายภาครัฐที่หวังกันว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้
เพราะรัฐบาลมีแผนงานจะดำเนินการเมกกะโปรเจคที่รัฐบาลเพื่อไทยทำไว้
แต่ความจริงคือประสิทธิภาพในการเร่งดำเนินโครงการอาจจะไม่เร็วเท่าที่ควร
ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพการดำเนินการอย่างเต็มที่
กว่าเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ก็ต้องใช้เวลานานเช่นกัน
และการที่จะคาดหวังว่าจะนำการใช้จ่ายภาครัฐเข้ามาทดแทนรายได้ส่วนอื่นที่หายไปนั้นก็คงจะไม่เพียงพอที่จะทดแทนได้
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจในปี 2558
จะเป็นอีกปีหนึ่งที่จะมีเศรษฐกิจซบเซา
โดยไทยอาจจะเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตต่ำสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 3 ติดกัน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้นานๆ
ประเทศเพื่อนบ้านก็จะพัฒนาทันไทยและก้าวหน้ากว่าไทยได้ในอนาคต
@ อะไรเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐ ต้องเร่งทำในปี 2558?
พิชัย:
โจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ
การที่เศรษฐกิจไทยขึ้นกับต่างประเทศสูงเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ของจีดีพี
ดังนั้นไทยจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศอย่างเร่งด่วน
วิธีที่สร้างความมั่นใจที่ดีที่สุดคือการจะต้องกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
ยิ่งมีการเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นตัวเร็วเท่านั้น
และเมื่อกำหนดวันเลือกตั้งได้แน่นอนได้แล้ว
ก็ควรจะยกเลิกกฏอัยการศึกที่เป็นตัวถ่วงปัญหาการท่องเที่ยวและการลงทุนอยู่ในตอนนี้
นอกจากนี้การคิดนโยบายใดก็ควรจะไปในทิศทางเดียวกัน การกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มีการจัดเก็บภาษีและขึ้นภาษีหลายชนิดซึ่งเป็นเหมือนการถ่วงเศรษฐกิจไปด้วย คล้ายกันกับการเหยียบคันเร่งพร้อมเหยียบเบรคที่จะทำให้ไม่ไปไหน
เหมือนที่ได้เคยเตือนแล้ว
@ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างไร?
พิชัย:
ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ผู้ประกอบการจะต้องรักษาเนื้อรักษาตัว อย่าเสี่ยงมากเกินไป
เพราะไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจที่ซบเซานี้จะยาวนานขนาดไหน
ตราบใดที่ยังไม่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย โอกาสที่จะฟื้นเศรษฐกิจมีได้น้อยมาก
และธุรกิจขนาดเล็กและกลางอย่าไปกู้นาโนไฟแนนซ์ เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 36%
ซึ่งไม่มีทางที่ธุรกิจจะชำระหนี้และดอกเบี้ยได้เลย
อย่างไรก็ดีอาจจะต้องพิจารณาตามรายธุรกิจ
เพราะในวิกฤติก็อาจจะมีโอกาสที่บางธุรกิจจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีแต่คงจะมีไม่มากนัก
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรดำเนินนโยบายอนุรักษ์นิยมในภาวะเศรษฐกิจนี้
@ แล้วในส่วนของประชาชนธรรมดา ที่เป็นพนักงาน แรงงาน
ลูกจ้าง หรือพี่น้องคนหาเช้ากินค่ำ เตรียมพร้อม หรือปรับตัวอย่างไรบ้าง?
พิชัย:
ในส่วนที่เป็นพนักงาน แรงงาน ลูกจ้าง หาเช้ากินค่ำ
ก็ต้องขอเรียนตรงๆ ว่า ท่านจะไดัผลกระทบมากที่สุด
เพราะรายได้ที่เคยได้จะไม่ตรงตามเป้าหมาย เนื่องจากบริษัทจะมีรายได้ลด
ก็จะลดการจ้างงาน ลดโบนัส อีกทั้งจะลดการจ้างการทำงานล่วงเวลา(โอที)
ซึ่งจะเป็นรายได้เสริมที่สำคัญของครัวเรือน
ส่งผลกระทบกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำอย่างมาก และน่าเป็นห่วง ดังนั้นท่านทั้งหลายจะต้องเริ่มประหยัดกันตั้งแต่วันนี้
ใช้เฉพาะที่จำเป็น จนกว่าประเทศจะกลับสู่ประชาธิปไตย
@ ปี 2558 จะมีการเปิด AEC
ตรงนี้ยังเป็นความหวังให้กับประเทศไทยได้อยู่หรือไม่?
พิชัย:
ในปลายปี 2558 ที่ทุกประเทศในอาเซียนรวมไทยจะเข้าสู่
AEC โอกาสที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในระยะยาวจะมีน้อยลง
เพราะถึงแม้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยจะเหมาะสม
แต่การที่ไทยจะเป็นศุนย์กลางของอาเซียนได้นั้น
ประเทศไทยจะต้องได้รับการยอมรับจากนานาประเทศและประชาคมโลก
ดังนั้นการที่ไทยยังมีเงื่อนไขที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย
และถูกหลายประเทศตั้งเงื่อนไขเช่นกลุ่มประเทศในอียู ประเทศสหรัฐ ประเทศออสเตรเลีย
เป็นต้น ทำให้การยอมรับของประเทศไทยลดน้อยลง
ดังนั้นโอกาสที่ไทยจะได้ประโยชน์ก็ลดลงไปด้วย