อย่าให้การรัฐประหารมาฉุดรั้งประเทศไทยให้ถอยหลังลงเหวไปมากกว่านี้ : ชูศักดิ์ ศิรินิล
วันนี้เป็นวันครบรอบ 6 ปี ของการรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ในมุมมองของผู้ก่อการรัฐประหารอาจมีความภาคภูมิใจที่ตนเองได้ยึดอำนาจและครองอำนาจได้ยาวนานถึง 6 ปี แต่ในมุมของประชาชน ถือเป็น 6 ปี แห่งความอัปยศและความขมขื่นที่ต้องถูกแย่งชิงอำนาจไปจากมือ แม้ผู้ก่อการจะยุติบทบาทในฐานะคณะรัฐประหารลงเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และต่อมามีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มี.ค. 62 แต่ตนเองก็ได้วางกลไกในรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้น เพื่อการสืบทอดอำนาจต่อไปอีกยาวนาน ผ่านกลไกของระบบเลือกตั้งที่แปลกประหลาด และการผูกขาดการคัดเลือกนายกฯ โดย ส.ว.ที่ตนเองเลือกมา นอกจากนี้ ยังมีการวางคนของตนในองค์กรอิสระ ระบบราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเห็นได้ว่า แม้รูปแบบภายนอกอาจมองว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อแท้แล้วเป็นประชาธิปไตยเทียมหรือประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (Illiberal Democracy) ที่มีการผูกขาดอำนาจของผู้ทำรัฐประหารคนเดิม
6 ปี ของการรัฐประหาร จึงดูเหมือนว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารและบริวาร แต่ผู้เสียประโยชน์และเสียโอกาสคือประเทศชาติและประชาชนโดยรวม หากย้อนไปดูเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารจะเห็นได้ว่าแผนการรัฐประหารได้ถูกวางไว้อย่างแยบยล โดยการร่วมมือกันของผู้นำทหาร และผู้นำมวลชนขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันผันตัวเองมาเล่นการเมืองอีกครั้งหลังจากป่าวประกาศต่อสาธารณชนว่าจะยุติบทบาททางการเมือง ข้ออ้าง ในการรัฐประหารจึงเป็นการโกหกประชาชนทั้งประเทศ คำมั่นสัญญาของผู้นำรัฐประหารเมื่อขณะทำรัฐประหารอ้างว่าจะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์และจะอยู่ในอำนาจไม่นาน แต่เมื่ออำนาจมันหวานหอมจึงเกิดการเสพติดในอำนาจ และอยากจะอยู่ในอำนาจต่อไป นอกจากไม่ได้เข้ามาสร้างความปรองดองแล้วตนเองยังมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเองด้วย ข้ออ้างการปฏิรูปต่างๆ ก็ไม่มีผลเป็นรูปธรรมสักเรื่องแม้จะใช้งบประมาณไปจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองกลับย้อนหลังไปสู่การเมืองเดิมหลายสิบปีที่ผ่านมา คำมั่นที่เคยให้ไว้จึงเป็นเพียงการผายลม จึงอดนึกถึงคำกล่าวโบราณที่ว่า “ไม่มีสัจจะในหมู่โจร” ไม่ได้ 6 ปีของการรัฐประหารได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมนั้น ไม่อาจสร้างการยอมรับของประชาชนและสร้างความเจริญในทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนได้ แต่ตราบใดที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คนกลุ่มนี้ได้สร้างขึ้นยังไม่ถูกแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยและประชานชาวไทยก็ต้องทนอยู่ในสภาพแบบนี้ไปอีกนาน จึงอยู่ที่ว่าประชาชนจะอดทนต่อไปหรือไม่เท่านั้น
บทเรียนของรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 จึงควรได้ตอกย้ำให้ประชาชนได้เห็นถึงความชั่วร้ายของการรัฐประหารได้เป็นอย่างดี และถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องสงวนความคิดที่แตกต่างและแสวงหาจุดร่วมกันในการต่อต้านการรัฐประหารไม่ให้เกิดในประเทศไทยอีก เมื่อประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมทุกอย่างสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก อย่าให้การรัฐประหารมาฉุดรั้งประเทศไทยให้ถอยหลังลงเหวไปมากกว่านี้เลย พรรคเพื่อไทยได้ยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการรัฐประหารไว้นานแล้ว และจะได้เสนอและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในเวลาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ปลุกสำนึกของประชาชนเพื่อให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม
หมายเหตุ – รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Chousak Sirinil