30มิ.ย.2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รมว.กลาโหมหญิง คนแรกของไทย

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนายกรัฐมนตรีพลเรือนหลายท่านที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับดำรงตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม’ ไปด้วยกัน ทั้ง ชวน หลีกภัย , สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์
.
ชวน หลีกภัย ที่เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เพื่อกระชับอำนาจทางการเมือง เนื่องจากในห้วงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับกองทัพไม่ราบรื่นนัก
.
ขณะที่ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีเหตุผลใกล้เคียงกัน คือ การที่นายกรัฐมนตรีเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง ก็เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกับกองทัพ การไม่ส่งคนในพรรคคนอื่นๆ มารับตำแหน่งก็เพื่อไม่ให้เกิดบรรยากาศการเป็นศัตรูกับบรรดาขุนทหาร
.
สำหรับ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เข้ารับตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม’ หลังการปรับ ครม. ยิ่งลักษณ์ ชุดที่ 5
.
#ณวันนั้น 30 มิถุนายน 2556 คือการสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ คือ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรก’ ของประเทศไทย
.
กระแสการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ซึ่งในช่วงแรกๆ มีรายงานกระแสต่อต้านจากหลายฝ่ายในกองทัพ โดยมุ่งเป้าโจมตี ‘นายกรัฐมนตรีหญิง’ ถึงประสบการณ์ทางการทหาร แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีของการทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้พิสูจน์ให้บรรดาขุนทหารและผู้นำกองทัพยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีหญิง สามารถทำงานร่วมกับผู้นำเหล่าทัพต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้นที่ได้ปฏิบัติงานตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีหญิงหลายเรื่องในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน อีกทั้งยังเคยติดตามลงพื้นที่ต่างๆ บ่อยครั้ง
.
การเดินเกมให้นายกรัฐมนตรีหญิงไปอยู่ท่ามกลางดงปืนท็อปบูตในเวลานั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐให้นิยามว่าเป็นกลยุทธ์ “นารีพิฆาต” ซึ่งเป็นการสยบความเคลื่อนไหวของผู้นำเหล่าทัพและถ่วงดุลอำนาจในเวลาเดียวกัน แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ล้อมไปด้วยขุนพลผู้เจนศึกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรื่องทหารเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่คนนอกไม่อาจเรียนลัดได้ ดังนั้นจึงมีการแต่งตั้ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เข้ามากลั่นกรองงานในรายละเอียดที่เกี่ยวกับกองทัพและงานด้านความมั่นคงอีกตำแหน่งหนึ่ง
.
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในทางการเมืองยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะถ่วงดุลอำนาจการเมืองกับบรรดาบิ๊กทหาร ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ ‘นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิง’ ในการปกป้องประชาธิปไตย เนื่องจากในขณะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดคลื่นใต้น้ำที่จะล้มรัฐบาลเพื่อไทยและความเคลื่อนไหวของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามในการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง
.
ซึ่งนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองและการรัฐประหารในท้ายที่สุด
.
อ้างอิง
https://news.mthai.com/general-news/251736.html
https://www.thaipost.net/main/detail/40827
https://mgronline.com/daily/detail/9560000082268
https://www.komchadluek.net/news/scoop/302758
https://www.posttoday.com/politic/news/231369
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/513894
https://www.thairath.co.th/content/353840