ก่อตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่งของฉับไว สร้างแม่ค้าออนไลน์รุ่นบุกเบิก
ก่อนจะมีบริษัทขนส่งสินค้าให้เลือกใช้บริการมากมายเช่นในปัจจุบัน รู้หรือไม่ว่าเมื่อ 18 ปีก่อน ‘แม่ค้าออนไลน์’ รุ่นบุกเบิก ส่งแหนมเนือง, มอเตอร์ไซค์, คอมพิวเตอร์, ฉลากหวยบนดิน และอื่นๆ ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หนึ่งในตัวอย่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
.
ก่อนปี 14 สิงหาคม 2546 บริการหลักของไปรษณีย์ไทยยังเป็นจดหมาย โทรเลข และธนาณัติ ส่วนการขนส่ง ‘สินค้า’ ชิ้นใหญ่ ฝากไว้กับบริการขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ภาพเจนตาคือพัสดุถูกขนข้ามจังหวัดด้วย ‘รถบรรทุก’ หรือ ‘สิบล้อ’ จากนั้นส่งเข้าหมู่บ้านและครัวเรือนอีกทอดด้วย ‘รถกระบะ’ หรือแล้วแต่พาหนะที่เหมาะสมแต่พื้นที่
.
#ณวันนั้น ไม่ต้องพูดถึงการส่งจดหมายแบบรวดเร็ววันต่อวัน แต่ยังไม่มีใครจินตนาการถึงระบบ ‘โลจิสติกส์’ ขนส่งพัสดุชิ้นน้อยใหญ่ในระยะใกล้ไกล และทำได้ผ่าน ‘ไปรษณีย์ไทย’ ได้ชัดอย่างในปัจจุบัน
.
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดภายใต้การนำของ นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และทีมผู้บริหารไปรษณีย์ไทยในขณะนั้น ใต้โจทย์การขับเคลื่อนประเทศใหญ่ ‘สังคมไทยไอซีที’ หรือ e-Thailand* ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลักดันสังคมเข้าสู่ระบบ e-commerce และโจทย์ #การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ** หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ซึ่งจะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามนโยบาย ส่งผลให้กิจการโทรคมนาคมและสื่อสารคือหนึ่งใน 4 เสาหลักของโครงสร้างอุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแปรรูป
.
การสื่อสารแห่งประเทศไทย จึงถูกคิดและจัดการใหม่ แปลงสภาพรัฐวิสาหกิจแล้วแตกเป็น 2 บริษัทใหม่ คือ ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) องค์กรรัฐวิสาหกิจใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546
.
วิธีคิดของ นพ. สุรพงษ์ ในวันนั้นมองว่าจุดแข็งของคนไปรษณีย์คือ ‘ความใกล้ชิด’ บุคลากรของไปรษณีย์ไทยคือผู้ที่รู้จักตำแหน่งแห่งที่บ้านเรือนประชาชนดีที่สุด ได้รับความไว้วางใจในฐานะคนคุ้นเคย กดออดเมื่อไรเจ้าบ้านไว้ใจเดินออกมาเปิดประตูให้ รวมทั้งการมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,176 แห่ง และ ปณอ. มากกว่า 3,000 แห่ง นับเป็นจำนวนสาขามากกว่าสาขาของธนาคารในขณะนั้นเสียอีก ทั้งทำเลที่ตั้งสาขาไม่ใช่จุดเล็กๆ แต่หลายแห่งเป็นอาคารใหญ่ที่กลายเป็นศูนย์บริการได้ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นจุดแข็งที่ รมว. ไอซีที ขณะนั้นมองว่า ‘ไปรษณีย์ไทย สามารถทำอะไรได้อีกมาก’ และหากนำจุดแข็งนี้มาสร้างแผนธุรกิจใหม่ จะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มาก และภายใต้จุดแข็งนี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ทำให้บุคลากรกว่า 20,000 คนต้องตกงาน
.
แต่ทั้งหมดนี้ ไม่มีใครคาดคิดว่าในวันนั้น รัฐวิสาหกิจเก่าแก่อย่างไปรษณีย์ไทยจะทำได้ และทำได้ทั้งที่องค์กรอยู่ในภาวะขาดทุน มีพันธะสัญญาจากกระทรวงการคลังว่าจะขาดทุนต่อเนื่องได้อีกไม่เกิน 3 ปี ทั้งเป็นการปรับด้วยการของบประมาณก้นถุงจากรัฐบาลมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพียง 3 พันล้านบาทเท่านั้น
.
“เท่าที่ผมไปดูงานจากประเทศอื่นที่มีกิจการไปรษณีย์ เช่น ประเทศสแกนดิเนเวียและญี่ปุ่น ยืนยันว่าไปรษณีย์สามารถทำอะไรได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับบริการชำระเงินให้ธุรกิจต่างๆ การส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การบริการลักษณะ ‘โทเทิล โซลูชัน’ หรือโพสต์แบงก์ และหลังจากแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจแล้ว ในต่างประเทศพบว่ากิจการกลับดีขึ้นถึงกับไปเทกโอเวอร์กิจการโลจิสติกส์เลยด้วยซ้ำ ย้อนกลับมาดูในประเทศไทย จึงมองว่าไม่มีเหตุผลใดที่ไปรษณีย์ไทยจะทำไม่ได้” “คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ นพ. สุรพงษ์ ในหนังสือ ‘จากรุ่งริ่งสู่รุ่งโรจน์ ไปรษณีย์ไทยยุคไอซีที
.
‘โปรเจกต์แรก’ ของการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ เริ่มด้วยการส่ง ‘คอมพิวเตอร์ไอซีที’ ถึงบ้าน พร้อมบุคลากรจากไปรษณีย์ไทยช่วยต่อคอมพิวเตอร์ให้พร้อมสรรพ , ต่อด้วยการตั้งบูธในงานสัปดาห์หนังสือและงาน OTOP CITY ช่วยส่งหนังสือและสินค้ากลับบ้านสำหรับประชาชนที่ไม่ต้องการนำรถเข้ามาในงาน ให้ชอปปิ้งสินค้ากันกระหน่ำ (ซัมเมอร์เซลล์) โดยไม่มีภาระเรื่องการ ‘แบก’ ของกลับบ้านให้กวนใจ
.
ที่หวือหวาและสร้างจินตนาการทำงานใหม่ๆ ในเวลานั้นที่สุด คือการตั้งเป้าจะเป็นจุดบริการ ‘service center’ เริ่มด้วยการจำหน่ายฉลากหวยบนดิน หรือ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจัดส่งไปรษณีย์บัตรทายผลฟุตบอล ที่ต่อมาดำเนินงานร่วมกันกว่าสิบปีจนกลายเป็นการโปรเจกต์ของการทดลองและพัฒนาระบบและบุคลากรสำหรับการรับงานปริมาณมาก
.
เรียกว่าส่งคอมพ์ก็ได้ ส่งมอเตอร์ไซค์ก็ดี ขายหวยบนดินก็ไม่ติด และเมื่อระบบเข้าที่ การส่ง ‘แหนมเนือง’ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และกลายเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์การโลจิกติกส์จากไปรษณีย์ไทยเสียเลย
.
ส่วนการต่อยอดธุรกิจไปรษณีย์ไทย วันนั้นอดีตรมว. ไอซีที มองว่าต้องมีการขาย ‘เฟรนไชน์’ ดังที่เกิดขึ้นกับธุรกิจขนส่งเอกชนในวันนี้ คือให้ประชาชนสามารถซื้อเฟรนไชน์เพื่อตั้งจุดรับสินค้าได้เองโดยมีรถจากไปรษณีย์มารับของที่จุดรับ หรือการหาพันธมิตร ซึ่งมีได้ตั้งแต่บริการด้านการเงิน บริการสินค้า รับจองเพื่อส่งสินค้า และอื่นๆ ที่จะพัฒนาต่อยอดได้ตลอดเวลาในฐานะองค์กรธุรกิจที่ไม่หยุดพัฒนา
.
มองการปฏิรูปไปรษณีย์ไทยในสายตาของคนในศตวรรษที่ 21 เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่าการ disruption เพราะนี่ไม่ใช่แค่การรื้อถอนความคิดเรื่อง ‘ทำไม่ได้’ แล้วเปลี่ยนเป็นทำได้ด้วยการเริ่มส่งคอมพิวเตอร์เสียเฉยๆ แต่คือการใช้ ‘เทคโนโลยี’ เข้ามาจับกับการเปลี่ยนแปลง มีระบบ track and trace, เทคโนโลยีการคมนาคม, ระบบจัดการหลังบ้าน, การลดขั้นตอนการทำงานบุคลากรด้วยเทคโนโลยี ใต้คำ (ในวันนั้น) ว่า ‘เทคโนโลยีสารสนเทศ’
.
เหนือสิ่งอื่นใด การก่อตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด คือหลักฐานเชิงประจักษ์ของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจครั้งสำคัญที่ประชาชนเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนในสังคม
.
และหากไปรษณีย์ไทยไม่หยุดการพัฒนา การแข่งขันในวงการระบบขนส่งเอกชนคงคึกคัก และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ในการบริการที่สุด คือประชาชน
—–
*e-Thailand Thailand การพัฒนาสังคมไทยสู่ยุคสารสนเทศ ความรู้ และการแข่งขันเสรี ประกอบด้วย e-Society, e-Government, International Trade Policy, Liberalization, E-C Facilitation, Information Infrastructure
**การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 กำหนดกรอบการแปรรูปสำหรับรัฐวิสาหกิจในธุรกิจในโครงสร้างอุตสาหกรรมที่สำคัญ 4 สาขา คือ โทรคมนาคมและสื่อสาร ประปา ขนส่ง และพลังงาน ธุรกิจ ‘การสื่อสาร’ ใหญ่ของประเทศในเวลานั้น อย่างการสื่อสารแห่งประเทศไทย จึงถูกคิดและจัดการใหม่ แปลงสภาพรัฐวิสาหกิจมาจัดตั้งเป็นบริษัท 2 บริษัท คือ ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) องค์กรรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546
อ้างอิง:
– จากรุ่งริ่ง สู่รุ่งโรจน์ ไปรษณีย์ไทยยุคไอซีที
– สกู๊ปพิเศษ: พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (อดีต) อัศวินคลื่นลูกที่3 กับ ทิศทางไอซีทีปี47 (หนังสือพิมพ์รายวัน ประชาชาติ 22 ธ.ค. 2546)
– การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในรัฐบาลทักษิณ (พ.ศ. 2544 – 2547)