19 ก.ย.49 “โปรดฟังอีกครั้ง” 15 ปี รัฐประหาร 49
ช่วงเวลา 15 ปี หากตีเป็นอายุคน ก็คงเท่ากับเด็ก ม.3 พัฒนาการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่จากเด็กแรกเกิดไปสู่วัยอ่านออกเขียนได้ คิดวิเคราะห์เป็น หากมนุษย์ถูกตัดตอนการเจริญเติบโตหรือถูกทำให้หยุดพัฒนา จะเป็นอย่างไร จะสูญเสียอะไรไปบ้าง?
.
19 กันยายน 2549 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้เกิดรัฐประหารครั้งที่ 12 และเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี นับจากการรัฐประหาร 2534
.
#ณวันนั้น กับช่วงเวลาปลอดรัฐประหารมา 15 ปี หลายคนไม่คาดคิดว่าประเทศไทยที่กำลังเป็นที่รู้จักของนานาชาติ เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่น่าจับตามองที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง
.
ห้วงเวลา 1 ปีก่อนเกิดการรัฐประหาร พรรคไทยรักไทยกลับเข้าบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 ด้วยที่นั่งในสภามากถึง 377 เสียง ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยขณะนั้นที่ค่อยๆ ร้อนระอุ ประชาชนบางส่วนไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) โดยเฉพาะการขายหุ้นที่ครอบครองทั้งหมดในกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็ก มูลค่ารวมทั้งหมด 73,000 ล้านบาท
.
ขณะเดียวกันก็มีการก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ชุมนุมกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเริ่มต้นการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีพระราชทาน จากมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540
.
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลือง พันผ้าพันคอสีฟ้า ถือมือตบ และเปิดดูรายการวิเคราะห์และวิพากย์การทำงานของรัฐบาลผ่านรายการทีวีของช่อง ASTV กันทั้งวันคืน
.
แม้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ จะประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่กลุ่ม พธม.และแนวร่วม ก็ยังไม่ยินยอมที่จะยุติการชุมนุม พยายามขัดขวางการเลือกตั้ง โดยยืนยันข้อเรียกร้องเดิม
.
วันที่ 25 เมษายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสกับคณะผู้พิพากษา โดยมีใจความสำคัญว่า
.
“ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไร ก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้”
.
การเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน 2549 ถูกขัดขวางอย่างหนักจากแนวร่วมกลุ่ม พมธ. รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศบอยคอต ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จนหลายพื้นที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามปกติได้
.
ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งมิชอบด้วยกฎหมาย กลายเป็นโมฆะ โดยอ้างว่าการกำหนดวันเลือกตั้งไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ไปจนถึงการจัดคูหาเลือกตั้งในลักษณะส่อให้เกิดการทุจริตในการลงคะแนน พร้อมทั้งให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่
.
คำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ในวงกว้าง
.
กลิ่นของการเกิดรัฐประหารค่อยๆ ลอยฟุ้ง ใครต่อใครพากันพูดถึง ถึงอย่างนั้น พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังให้สัมภาษณ์ในวันที่ 13 กันยายน 2549 ยืนยันว่า… ทหารไม่คิดปฏิวัติ
.
และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ ค่ำวันที่ 19 กันยายน 2549 ทหารได้เริ่มเคลื่อนกำลังและรถถังเข้ามายังสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร อาทิ ถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล รวมไปถึงสถานีโทรทัศน์ต่างๆ
.
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และคณะฯ กำลังเตรียมเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเสนอชื่อ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ
.
วันนั้น ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งประชาชาติ เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะ และผู้บัญชาการทหารบกยึดอำนาจได้สำเร็จ ก่อนจะประกาศฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้ง แล้วแจ้งต่อสาธารณชนทั้งไทยและนานาชาติว่า จะเข้ามารักษาความสงบเพียงระยะสั้นเท่านั้นแล้วจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลา 1 ปี
.
การรัฐประหารครั้งนี้จบลงอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยความครื้นเครงของประชาชนบางกลุ่มที่ออกมาผูกโบว์สีเหลืองและมอบดอกไม้ให้ทหาร จนสำนักข่าวต่างชาติพากันพาดหัวไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘A festive coup in Thailand’
.
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากก็ได้ทยอยออกมาต่อต้านการรัฐประหารอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน กรณีของ ‘ลุงนวมทอง ไพรวัลย์’ คนขับรถแท็กซี่ที่ขับรถพุ่งชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประท้วงคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 และตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยการผูกคอประท้วงการรัฐประหาร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2549
.
รัฐประหารครั้งที่ 12 ของประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาธิปไตยไทยได้หายไป สิทธิและเสียงพี่น้องประชาชนถูกริดรอน รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ฉบับประชาชน’ ถูกฉีกทิ้ง โดยคณะรัฐประหารของกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้อำนาจและอาวุธมาอ้างสิทธิความชอบธรรมของตัวเอง เพื่อลดทอนสิทธิและเสียงของประชาชน เมื่อเราทุกคนล้วนมีสิทธิและเสียงเท่ากันบนหลักประชาธิปไตย
.
อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนชาวไทยเสียโอกาสในการแสวงหาทางเลือกของชีวิต ผ่านระบบการเลือกตั้ง เมื่อสถาบันการเมือง หน่วยราชการและพรรคการเมือง ถูกกลุ่มคนที่หลงใหลอำนาจนิยมแบบไทยๆ ตัดสินใจใช้อำนาจเกินขอบเขตละเมิดอำนาจของประชาชน
.
การรัฐประหาร 2549 คือต้นตอของการทำลายประชาธิปไตยไทย จนสูญเสีย พังทลาย และกลายเป็นเศษซากมาจนทุกวันนี้
#รัฐประหาร #19กันยา
—
อ้างอิง:
รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 กับการเมืองไทย โดย เกษียณ เตชะพีระ (รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2551)
http://wiki.kpi.ac.th/index.php…
https://www.bbc.com/thai/thailand-41315814
https://www.matichonweekly.com/scoop/article_230466