“ชวลิต”วอนขอความเป็นธรรมให้ “ยิ่งลักษณ์”ในคดีจำนำข้าว ชี้ถูกรัฐบาลชี้นำกระบวนการยุติธรรมตลอด

        นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ยกคำพูดของ นายวิษณุ
เครืองาม รอง นรม.ที่ชี้แจงใน ครม.ว่า นโยบายรับซื้อยางพาราแตกต่างจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3 ประการ เฉพาะอย่างยิ่ง
มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนั้น ตนขอตั้งข้อสังเกตต่อคำแถลงดังกล่าว
2 ประการ ดังนี้

        1. การกล่าวว่ามีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
น่าจะเป็นการชี้นำและก้าวล่วงไปในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย เป็นอย่างยิ่ง
เพราะปัจจุบันคดีโครงการรับจำนำข้าว อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ศาลเพิ่งไต่สวนพยานโจทก์ไปได้เพียง 2 ปาก
ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งใดๆ ว่าจำเลยได้ทุจริตหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตตามข้อกล่าวหาแต่ประการใด
ทั้งนี้ โดยหลักกฎหมายทั่วไป เมื่อศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้อง
ให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
        การที่โฆษกรัฐบาลนำคำพูดของ
รอง นรม. ซึ่งกล่าวชี้แจงในที่ประชุม ครม.มาเผยแพร่ดังกล่าว
บุคคลทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล และเป็นรัฐบาลที่มาโดยอำนาจพิเศษ
ย่อมส่งผลกระทบในทางลบต่อการพิจารณาคดีในศาล นับได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร ไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง ประการสำคัญ พท.ได้ขอร้องมาเป็นระยะ
ๆ แล้ว ให้ระมัดระวังการให้ความเห็นที่อาจเป็นการก้าวล่วงหรือชี้นำไปยังกระบวนการยุติธรรม
มาหลายครั้งแล้ว ก็คงต้องให้วิญญูชนเป็นผู้พิจารณาว่า
การให้ความเห็นดังกล่าวต่อสาธารณะเหมาะสมหรือไม่
ก้าวล่วงหรือชี้นำกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
        2. ครม.มีมติเมื่อ 19
ม.ค.59อนุมัติให้ใช้งบประมาณแผ่นดินรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยาง
กก.ละ 45 บาท ซึ่งเป็นราคานำตลาด
เห็นได้ชัดเจนว่าใช้หลักการเดียวกันกับ โครงการรับจำนำข้าว
ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินแทรกแซงกลไกตลาด รับจำนำข้าวจากเกษตรกรในราคานำตลาด
โดยทั้งสองรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลผลิตราคาตกต่ำ
ซึ่งทั่วโลกก็มีนโยบาย มีมาตรการในการอุดหนุนเกษตรกรของประเทศตนเองกันทั้งนั้น
นี่คือ หลักการสำคัญที่เหมือนกัน ส่วนรายละเอียด วิธีการ แตกต่างกันถือเป็นเรื่องธรรมดา
และปลีกย่อยไม่ถือว่าแตกต่างในหลักการ
        ดังนั้น
เมื่อใช้วิธีการช่วยเหลือเกษตรกรในหลักการเดียวกัน ก็ควรเข้าใจหัวอกผู้ที่อาสาเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในนโยบายสาธารณะที่ได้แถลงต่อรัฐสภาส่วนจะมีการทุจริตในขั้นตอนไหน
หรือไม่ อย่างไร ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นผู้พิสูจน์